นนทบุรี 19 ม.ค. – กฟผ.ส่งคลิปความคิดเห็นชาวบ้านกระบี่เสนอนายกรัฐมนตรี คาดหวัง กพช.17 ก.พ.นี้ไฟเขียวโรงไฟฟ้ากระบี่ ขณะที่เร่งสร้างสายส่งไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงปีนี้เปิดประมูล 6 หมื่นล้านบาท และเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติสร้างสายส่งใต้ตอนล่าง 3.54 หมื่นล้านบาท
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการและโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.กำลังรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นประชาชนลักณะคลิปวิดีโอเสนอนายกรัฐมนตรีประกอบการตัดสินใจ ว่าจะเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ชาวบ้านกระบี่รวบรวม 15,000 รายชื่อสนับสนุนการก่อสร้าง นับว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์รายชื่อการสนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าสูงสุดในประเทศไทย
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. กล่าวว่า คาดว่าในการประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.วันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ จะตัดสินใจเดินหน้าโรงไฟฟ้ากระบี่ เพราะหากไม่สามารถเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟดับมากขึ้นจากปัจจุบันก็เริ่มเสี่ยงแล้ว ขณะเดียวกันหากต้องปรับไปใช้เชื้อเพลิงอื่นโดยเฉพาะการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้นอีกด้วย
“เราได้คำนวณว่าอนาคตต้องพึ่งแอลเอ็นจี ทั้งหมดแทนการใช้ถ่านหินจนถึงปลายปี 2564 ที่โรงไฟฟ้าจะเข้าระบบต้นทุนการผลิตไฟรวมค่าลงทุนค่าก่อสร้าง คลังแอลเอ็นจีลอยน้ำฯลฯ ราคาแอลเอ็นจี เฉลี่ยที่ 300 บาทต่อล้านบีทียู ค่าไฟจากถ่านหินจะถูกกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อคิดจำนวนไฟที่ 1,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้สามารถลดค่าไฟได้ถึงปีละ 3,000 ล้านบาทต่อปี” นายกิจจา กล่าว
ทั้งนี้ ความต้องการไฟภาคใต้ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ 2,747 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตภาคใต้เฉลี่ยอยู่ที่ 3,089.5 เมกะวัตต์ แต่การผลิตจริงไม่ได้เต็มศักยภาพ เพราะมีพลังน้ำรวมอยู่ กฟผ.จึงดึงไฟจากส่วนกลางมาเสริมระบบแทน ดังนั้น ในแผนพีดีพีที่จัดทำได้เห็นว่าไฟใต้จะมีการใช้เติบโตทำให้ดีมานด์จะไปอยู่ 3,152 เมกะวัตต์ปี 2562 เกินซัพพลาย จึงกำหนดให้โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่เข้าในปี 2562 ซึ่งขณะนี้ถือว่าเลื่อนมาแล้วและหากเร่งสร้างจริงเร็วสุดก็จะเข้าระบบได้ปี 2564
“เวลานี้ก็เสี่ยงไฟดับแล้วแม้ว่าจะมีสายส่งที่จะดึงไฟจากตะวันตกไปป้อนภาคใต้ แต่ก็เสี่ยง เพราะรับได้สูงสุดไม่เกิน 900 เมกะวัตต์ และปี 2564 และปี 2567 ก็เช่นกันจึงกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเกิดขึ้นและหากทุกอย่างไม่เกิดก็จะเสี่ยงไฟดับเพิ่มอีกและค่าไฟจะแพงอีกเช่นกัน ” นายกิจจา กล่าว
ทั้งนี้ จากความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ที่สูงถึงร้อยละ 5 และในพื้นที่ที่นิยมของนักท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต มีความต้องการถึงร้อยละ 7 จึงต้องมีไฟฟ้าเพียงพอรองรับและจากที่โรงไฟฟ้ากระบี่ล่าช้า กฟผ.ต้องใช้แผนสร้างสายส่งชั่วคราวพังงา-ภูเก็ตรองรับ
ขณะเดียวกันเพื่อเสริมความมั่นคงทั้งระบบ กฟผ. ได้ทำแผนก่อสร้างสายส่ง 500 เควี เสริมความมั่นคงภาคใต้ตอนล่างสุราษฎร์ธานี- ทุ่งสง-หาดใหญ่ 3 ระยะทาง 350. กม. วงเงิน 35,400 ล้านบาท จะเสนอครม. 1-2 เดือนนี้ และปีนี้ กฟผ.จะเปิดประมูลสายส่งทั่วประเทศวงเงิน 60,000 ล้านบาท 55 สัญญา และใน 2 ปีนี้คาดจะเปิดประมูลสายส่งในวงเงิน 150,000 ล้านบาท
นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ยังมุ่งสู่ผู้นำการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่กำหนดการผลิตเป็น 2,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2579 แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลร้อยละ 51 ลมร้อยละ 15.34 แสงอาทิตย์ร้อยละ 24.3 ฯลฯ การมุ่งเน้นชีวมวลเนื่องจากผลประโยชน์จะตกกับเกษตรกรอย่างแท้จริง.-สำนักข่าวไทย