กรุงเทพฯ 8 ธ.ค. – รมว.พลังงานเร่งช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ ) 1 แสนตันใช้สำหรับการผลิตไบโอดีเซล ชี้ไม่คุ้มทุนค่าไฟฟ้าหากไปใช้ที่โรงไฟฟ้า “กระบี่” ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน “เทพา-กระบี่” จะยุติหรือไม่ รู้ผลใน 3-6 เดือนข้างหน้า ด้านการประมูล “เอราวัณ-บงกช” ชี้จะเสร็จภายใน 1 ปี
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงพลังงานช่วยดูดซับซีพีโอ 100,000 ตัน จากที่ประเทศไทยมีสตอก สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 540,000 ตัน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านตัน/ปี เป็น 2.4 ล้านตัน/ปีนั้น ทางกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการภายใน 1-2 เดือน โดยจะไม่ใช้แนวทางนำไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ เพราะภาพรวมแล้วมีผลกระทบมากกว่าผลดี เพราะที่ผ่านมาจากการเก็บตัวเลขพบว่าการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าช่วยเหลือเกษตรกรได้ 35 ล้านบาท แต่ต้องเสียค่าดำเนินการรวมถึง 400 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบประชาชนมากกว่า เพราะกระทบต่อค่าไฟฟ้าเอฟที
ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะช่วยในเรื่องการนำมาใช้เป็นสตอกในไบโอดีเซล หรือบี 100 ให้มากขึ้น โดยจะมีการหารือกับผู้ค้าน้ำมัน ผู้ผลิตบี 100 ว่าจะดำเนินการอย่างไร ให้เกิดผลกระทบต่อราคาน้ำมันให้น้อยที่สุด ซึ่งอาจจะต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การผสมน้ำมัน โดยที่ไม่ต้องเพิ่มส่วนผสมจากปัจจุบันที่เป็นบี 7 หากสามารถใช้บี 7อย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถใช้ซีพีโอได้ถึง 1.2 ล้านตัน/ปี ปัจจุบันมีความต้องการใช้บี 100 ประมาณ 3.4-3.5 ล้านลิตร/วัน ส่วนโรงงานไบโอดีเซลมีกำลังผลิตประมาณ 6 ล้านลิตร/วัน
นายศิริ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ “กระบี่-เทพา” นั้น จะก่อสร้างหรือจะเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหรือไม่ จะรอดูการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี (พีดีพี 2015) ที่จะเสร็จภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ภาคใต้เพิ่มสูงรองรับการท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าพื้นฐานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความมั่นคง เพียงพอ
ส่วนการเปิดประมูลปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานปี 2565-2566 แหล่ง “เอราวัณ-บงกช” รมว.พลังงานกล่าวว่า ในปีนี้ไม่สามารถเปิดทีโออาร์ประมูลได้ แต่จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามโรดแมพของรัฐบาล คือภายใน 1 ปีนี้ หากดำเนินการไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นการดำเนินการที่ล้มเหลวของกระทรวงพลังงาน เพราะเรื่องนี้ เป็นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน โดยสิ่งที่มอบให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติดำเนินการ คือ ดูทุกด้านให้รัดกุม รอบคอบ ตอบคำถามสังคมได้ เช่น การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในปัจจุบัน รื้อแล้วดำเนินการอย่างไร ตีมูลค่าอย่างไร การทบทวนแบบสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา โดยทีโออาร์จะต้องพิจารณาทุกอย่างให้ตกผลึก ชัดเจน มั่นคง
“ร่างทีโออาร์ แหล่ง “เอราวัณ-บงกช” จะเปิดประมูลเมื่อใด ก็คงเป็นปีหน้า แต่กรุณาอย่าใช้คำว่าเลื่อน โดยต้องดูชิ้นส่วนให้ประกอบเป็นทีโออาร์ได้ลงตัว เพราะถ้าไม่ลงตัวก็จะเกิดความสุมเสี่ยง ซึ่งการเปิดประมูลจะเสร็จภายใน 1 ปี แต่จะได้ผู้ประมูลเมื่อใดยังไม่ขอตอบ ” นายศิริ กล่าว. -สำนักข่าวไทย