กระทรวงพลังงาน 30 ส.ค.- กบง. เห็นชอบประกาศใช้ บี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน เริ่ม 1 ม.ค.63 โดยใช้มาตรการจูงใจ ราคาต่ำกว่าบี 7 ในอัตรา 2 บาท/ลิตร เริ่ม 1 ต.ค.62 และลดส่วนต่างบี20 ให้ต่ำกว่าบี 7 เหลือ 3 บาท/ลิตร
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เปิดเผย ว่าที่ประชุม กบง.วันนี้ เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานทดแทนดีเซลบี 7 ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยให้ บี 20 และบี 7 เป็นน้ำมันทางเลือก เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ ) เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร โดยในเบื้องต้นจะใช้มาตรการราคามาจูงใจ เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.2562 กำหนดส่วนต่างของบี 10 ให้ต่ำกว่า บี7 ในอัตรา 2 บาทต่อลิตร และปรับส่วนต่างของบี 20 จากเดิมต่ำกว่าบี 7 อัตรา 5 บาท/ลิตร เหลือ 3 บาทต่อลิตร โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน ซึ่งคาดว่าเมื่อประกาศนโยบายนี้แล้วจะช่วยดูดซับซีพีโอได้ 2.3 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะทำให้คาดว่ายอดใช้ของกลุ่มดีเซลที่มีรวม 67 ล้านลิตรต่อวันในปี 2563 นั้น ยอดใช้จะแบ่งเป็นดังนั้น บี 7 ประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน บี 20 ยอดใช้จะลดเหลือ 5 ล้านลิตรต่อวันจากปัจจุบัน 6.1 ล้านลิตร/วัน และบี10 คาดจะมีประมาณ 57 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบัน มียอดใช้ 1 หมื่นลิตร/วัน และจะเพิ่มเป็น 32 ล้านลิตรต่อวันในเดือนธันวาคม 2562
ส่วนกรณีที่ค่ายรถยนต์ยุโรปยังไม่ยอมมาตรฐานบี 10 นั้น นายสนธิรัตน์กล่าวว่า รถยนต์ดีเซลส่วนใหญ่ในไทยเป็นค่ายญี่ปุ่น ให้การยอมรับ บี 10 ส่วนค่ายรถยนต์อื่นๆ หากยังไม่ให้การยอมรับ ก็สามารถใช้บี 7 เป็นทางเลือกได้ โดยจะปรับเป็นราคาน้ำมันเกรดพรีเมียมแทน โดยปัจจุบันนี้ พบว่าประชากรรถยนต์ดีเซลมีประมาณ 10 ล้านคัน สามารถใช้บี10ทันทีได้ 5 ล้านคัน ส่วนที่เหลือก็สามารถปรับมาใช้บี10 หรือยังคงใช้บี7 ต่อไป ส่วนกรณีบี 20 ที่ลดการอุดหนุนลงนั้น ก็เนื่องจากว่าเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุน ประกอบกับการใช้บี 10 จะสามารถดูดซับซีพีโอได้มากกว่าบี 20
“กลไกด้านราคานี้จะเพื่อช่วยดูดซับซีพีโอ สร้างความมั่นคงทางพลังงานที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบในประเทศ รักษาเสถียรภาพระดับราคา ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และลดปัญหามลภาวะทางอากาศ โดยการลดการอุดหนุนบี20 และเพิ่มการอุดหนุนบี10 ระยะแรกๆจะไม่มีผลต่อเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ขณะนี้มีราว 4 หมื่นล้านบาท ” รมว.พลังงานกล่าว
ผลจากการใช้กองทุนฯ ในนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลฯ บี 10 ตั้งแต่ 1 ต.ค.62 จะ ทำให้อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ น้ำมันดีเซลฯ (บี7) จากปัจจุบัน 0.50 บาทต่อลิตร เป็น 1.25 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลฯ บี 10 จากปัจจุบัน -0.35 บาทต่อลิตร เป็น -0.60 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 จากปัจจุบัน -4.20 บาทต่อลิตร เป็น -1.45 บาทต่อลิตร
ส่วนความพร้อมของการใช้น้ำมันดีเซลฯ บี 10 คาดว่าสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือในปัจจุบัน และผลผลิตปาล์มที่คาดการณ์ จะสามารถรองรับการใช้ CPO ตามเป้าหมาย ที่คาดว่าเดือน ธ.ค. 2562 จะมีการใช้ไบโอดีเซล บี100 ที่ระดับ 6.2 ล้านลิตรต่อวัน (เทียบเท่าการใช้ CPO 167,360 ตันต่อเดือน) มีผู้ผลิตไบโอดีเซล บี100 จำนวน 9 ราย ใช้ผสมเพื่อผลิตเป็นน้ำมันดีเซล บี 10 ได้ หรือ 6,892,242 ลิตรต่อวัน และมีค่ายรถยนต์รับรองว่าใช้น้ำมันดีเซลฯ บี10 ได้ประมาณ 5.2 ล้านคัน จากจำนวน 10.4 ล้านคัน หรือร้อยละ 50 ของรถยนต์ดีเซลทั้งหมด ในส่วนผู้ค้าน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลฯ บี10 มีความพร้อม และสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ สำหรับ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เดือน ส.ค. 62 กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องสุทธิกลุ่มน้ำมัน 1,400 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล 1,320 ล้านบาทต่อเดือน กลุ่มดีเซล 69 ล้านบาทต่อเดือน ฐานะกองทุนน้ำมันรวม ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2562 อยู่ที่ 38,210 ล้านบาท . – สำนักข่าวไทย