กรุงเทพฯ 21 ก.พ. – กฟผ.ยืนยันเทคโนโลยี USC ที่ใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ทันสมัย ประสิทธิภาพสูงสุด และมาตรฐานสากล ใช้ถ่านหินน้อย แต่ให้ค่าความร้อนสูง นานาประเทศทั่วโลกยอมรับ
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งตามคำจำกัดความ IEA (Inter Nationalnal Energy Agency) หมายถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง ปล่อย CO2 ในระดับต่ำ รวมทั้งสามารถกำจัดมลสารต่าง ๆ อาทิ ฝุ่นละออง ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือดักจับไอปรอทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ กฟผ.ใช้เทคโนโลยีแบบ Ultra Super Critical หรือ (USC ) ซึ่งมีประสิทธภาพการเผาไหม้สูง ประหยัดการใช้เชื้อเพลิง เป็นผลให้ลดการปล่อย CO2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ประกอบกับมีระบบกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) ระบบดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตย์ (ESP) ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) และระบบดักจับสารปลอด (ACI) จึงถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดตามมาตรฐานสากล ตามนิยามของ IEA ที่ หน่วยงานกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (USEPA) และนานาชาติ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ให้การรับรองว่าเป็นระบบกำจัดมลสารที่เป็นมาตรฐานสากล มีการใช้งานแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ 35 ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศกลุ่มยุโรป (OECD) จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และแอฟริกาใต้
ส่วนเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนแบบ Carbon Capture and Storage หรือ (CCS) ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นวิจัยและพัฒนายังไม่สามารถใช้งานได้จริง รวมทั้งยังมีข้อจำกัดอีกหลายประการ อาทิ ต้องมีโพรงในชั้นหินใต้ดิน หรือใต้ทะเลที่มีความมั่นคงแข็งแรง และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลออกมาได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ปรากฎชัดเจนว่า มีพื้นที่บริเวณใดที่มีการยืนยันว่า สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ระยะยาวได้โดยไม่มีการรั่วไหล และที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์การรั่วไหลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบ CCS มาแล้ว เช่นที่เคยเกิดเมื่อปี ค.ศ.2008 ที่เนเธอร์แลนด์ ระบบ CCS จึงยังไม่เป็นระบบกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นมาตรฐานสากล
โฆษก กฟผ. กล่าวต่อไปว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด USC ที่ใช้กันทั่วโลกและมีการปล่อยมลสารต่ำ จึงได้มาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับของกลุ่มสถาบันการเงินที่เน้นสิ่งแวดล้อมอย่าง ธนาคารโลก (WB) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (IDB) ธนาคาระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาแอฟริกาใต้ (AFDB) และสถาบันการเงินชั้นนำอื่น ๆ ที่อนุมัติให้กู้เงินลงทุนได้ โดยเฉพาะเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินระบบ USC ขนาดกำลังผลิตมากกว่า 500 เมกะวัตต์ขึ้นไปอีกด้วย
“กฟผ.เลือกสรรเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในปัจจุบันสำหรับโรงไฟฟ้า ภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟผ. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการผลิตไฟฟ้าและมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน” โฆษก กฟผ. กล่าว.-สำนักข่าวไทย