กรุงเทพฯ 20 ก.พ. -กระทรวงพลังงานระบุในขณะนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังเดินหน้า หลัง กพช.สั่งปลดล็อคการชะลอโครงการ ระบุ การพิจารณาของ คชก.เหมือนกึ่งทำEHIA ใหม่ ด้าน กฟผ.รอความชัดเจน จาก ครม.พรุ่งนี้
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า ในส่วนของ กฟผ.รอความชัดเจนจาก ประชุม ค.ร.ม. 21 กพ. ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยหากให้ถ้าทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)ก็ใช้เวลา 1ปีหรือถ้าทำใหม่ก็จะใช้เวลา 2-2.5 ปี ซึ่งก็จะทำให้ล่าช้าจากประมาณการณ์ใหม่ที่เดิมจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565
นายสหรัฐกล่าวว่า หากล่าช้าออกไปอีก ก็นับว่ามีความเสี่ยง เพราะ ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้ขยายตัวร้อยละ 4-5 ต่อปี ในขณะที่ภาคใต้ตอนล่างรวมถึงด้านอันดามันจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อีก 2,000 เมกะวัตต์ ควบคู่กับการเสริมความมั่นคงโดยการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปใต้ 500 KV บางสะพาน – หาดใหญ่ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562-2563 จะส่งไฟฟ้าเพิ่มได้ถึง800-900 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน มีสายส่ง 500 kv ไปภาคใต้ ที่ส่งได้เพียง 500-600 เมกะวัตต์ แต่ปัญหา คือ การก่อสร้างสายส่งทั่วประเทศมีความล่าช้าเพราะมีทั้งการต่อต้านจากประชาชนและการเจรจารอนสิทธิ์
“ตอนนี้ทั้งการก่อสร้างสายส่งและโรงไฟฟ้าภาคใต้ มีผู้คัดค้าน หากช้าทั้ง2 เด้งก็นับมีความเสี่ยงมาก หากต้องอาศัยสายส่งเดิมเท่านั้น ต้องระมัดระวังเป็นที่สุด หากเกิดสิ่งไม่คาดฝัน เหมือนปี 2556 ไฟฟ้าก็อาจจะเกิดปัญหาดับ14 จังหวัดภาคใต้ ทางแก้อื่น อาจต้องซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น ปัญหาคือราคาแพงตั้งแต่กว่า 2 บาทจนถึง8 ต่อหน่วยและจำกัดเพียง 300 เมกะวัตต์ เท่านั้น”นายสหรัฐกล่าว
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในขณะนี้กระทรวงพลังงาน รับทราบเพียงการเดินหน้าตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. 17 ก.พ. โดยมติที่ประชุมปลดล็อค ให้เดินหน้าโรงไฟฟ้ากระบี่ แต่ยังไม่ได้อนุมัติก่อสร้าง เพราะต้องดำเนินการตามกฏหมายด้านสิ่งแวดล้อม คำว่าปลดล็อคหมายถึงก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีสั่งชะลอโครงการแล้วตั้ง คณะกรรมการไตรภาคีมาศึกษา มีข้อเสนอหลากหลายเรื่อง กพช.จึงมีมติให้ คณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินำข้อเสนอคณะกรรมการไตรภาคี ไปประกอบการพิจารณา ซึ่งเดิม คชก.มีคำถามให้ กฟผ.ตอบ 170-200 คำถาม กฟผ.ก็ต้องตอบให้ชัดเจน ซึ่งขั้นตอนเหล่นนี้ ก็เหมือน กึ่งๆทำอีเอชไอเอใหม่ โดยโครงการจะก่อสร้างได้ก็ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการอนุมัติจาก คชก. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมไปคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ก็จะมีการรับฟังข้อมูลจากในพื้นที่มาประกอบการให้ใบอนุญาตอีกด้วย ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะใช้เวลาราว8-12 เดือน.-สำนักข่าวไทย