กรุงเทพฯ 20 ก.พ. – กฟผ.เดินหน้าตามขั้นตอน EHIA พร้อมนำความเห็น คชก.และคณะฯ ไตรภาคีประกอบการพิจารณาในรายงานฯ เสนอ สผ.อย่างครบถ้วน ย้ำถ่านหินเป็นทางออกสู่การแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานภาคใต้
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจในเรื่องการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ว่า กฟผ.นำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 และได้มีการเพิ่มความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) อีก 165 ข้อในเวลาต่อมา ซึ่งระหว่างรอการพิจารณาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นว่า กฟผ.ควรถอนรายงานจนกว่าผลการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคีจะได้ข้อยุติ
ทั้งนี้ มติของ กพช.เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ขอให้ สผ.เริ่มกระบวนการพิจารณารายงาน EHIA ต่อนั้น ไม่ใช่เป็นการอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการฯ แต่อย่างใด ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมการไตรภาคีที่ กพช. ให้เพิ่มนั้น กฟผ.จะเร่งจัดทำเพิ่มและส่งให้ สผ.พิจารณาต่อไป
ส่วนการลงทุนเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียของบริษัท EGATi เป็นการประกันความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศที่บริษัทไปร่วมลงทุน และเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งนี้ ถ่านหินจากเหมืองแห่งนี้มีค่าความร้อนไม่ตรงกับคุณสมบัติถ่านหินที่ใช้กับโรงไฟฟ้ากระบี่ เนื่องจากไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการลงทุนของบริษัท จึงจะไม่มีการขายถ่านหินให้โรงไฟฟ้ากระบี่ การเลือกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีปริมาณสำรองที่มั่นคงและมีราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยถูกกว่าแอลเอ็นจี และพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินยังเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง ตลอดจนใช้เทคโนโลยีสะอาดที่ทันสมัย สามารถควบคุมค่ามลสารให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มีปริมาณ 4.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และโครงการโรงไฟฟ้าเทพา จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 12.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี เมื่อรวมทั้ง 2 โรงไฟฟ้าจะมีปริมาณเท่ากับ 17.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคคมนาคมขนส่งและพาหนะของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบจากข้อมูลถึง 3.7 เท่า ทั้งนี้ การเปรียบเทียบการใช้ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกปี 2555 พบว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคคมนาคมขนส่งและพาหนะรวม 64.23 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
ส่วนกรณีบริษัทจีนร่วมกับอิตาเลียนไทยเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในการประมูลโรงไฟฟ้าฯ ทำให้ไม่มั่นใจในเทคโนโลยีนั้น ขอชี้แจงว่าเทคโนโลยีของบริษัทที่ชนะการประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากการคัดเลือกผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเป็นการคัดเลือกผ่านการประกวดราคาระดับนานาชาติที่ผู้เข้าประกวดราคาทุกรายจะต้องนำเสนอรายละเอียด และคุณสมบัติทางเทคนิค รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ให้คณะกรรมการพิจารณา โดยที่อุปกรณ์หลักจะต้องผ่านการตรวจสอบ และมีระยะเวลาการเดินเครื่องจริงตามที่กำหนด เมื่อผ่านเกณฑ์ทางเทคนิค จึงจะเปิดซองราคาต่อไป ในข้อเท็จจริงบริษัทจีนที่เสนอราคาต่ำสุดเสนอรายละเอียดของอุปกรณ์หลัก เช่น หม้อต้ม เครื่องกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เครื่องกำจัดฝุ่น เครื่องกำจัดออกไซด์ของไนโตรเจน เครื่องกำจัดปรอท ที่ออกแบบและผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตจากประเทศอเมริกา และเยอรมนี ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน เปลี่ยนมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและการควบคุมมลภาวะ เช่นในปัจจุบันสินค้าชื่อดังทั่วไปก็ผลิตจากประเทศจีนภายใต้มาตรฐานของเจ้าของสินค้านั้น ๆ
“ขอให้ประชาชนมั่นใจ กฟผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยภาครัฐ ว่าจะดำเนินกระบวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยความโปร่งใสตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ เพื่อมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศไทย” โฆษก กฟผ. กล่าว.-สำนักข่าวไทย