กรุงเทพฯ 15 ก.ค. – รมว.คมนาคมเตรียมดันแผนฟื้นฟู ขสมก.ขอความเห็นชอบ ครม.ต้นเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมจัด workshop ขสมก. รถร่วมฯ ดันอีก 54 เส้นทาง เข้าร่วม 108 เส้นทาง มอบมาตรฐานการให้บริการที่ดี
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ต้นเดือนสิงหาคม 2563 กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะนำแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หลังจากที่ผ่านมาแผนดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไปแล้ว รวมทั้งผู้บริหาร ขสมก.ได้เข้าร่วมหารือกับกระทรวงการคลังถึงแนวทางที่จะมีการล้างขาดทุนสะสม 127,000 ล้านบาท รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ที่กระทรวงการคลังยังมีข้อสงสัย
“ที่ผ่านมามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการที่จะทำให้ผลประกอบการ ขสมก.มี EBITDA กลับมาเป็นบวก ซึ่งแผนฟื้นฟูฉบับใหม่จะใช้เวลารวม 7 ปี ซึ่งเรื่องนี้ชี้แจงให้กระทรวงการคลังทราบว่ามีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการเก็บค่าโดยสาร จากแผนฟื้นฟูเดิมมาจัดเก็บแบบตั๋ววัน 30 บาท/คน ทำให้ผลประกอบการ ขสมก.ที่จะกลับมาเป็นบวกจะใช้เวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังก็เข้าใจแล้ว” นายศักดิ์สยาม กล่าว
ส่วนประเด็นที่มีข้อสงสัยว่าหาก ขสมก.เป็นผู้จ้างเอกชนเดินรถตามระยะทาง (กม.) จะทำให้กลายเป็นผู้บริหารสัญญามีลักษณะเป็น regulator อีกหรือไม่ หลังจากที่มีมติ ครม.เปลี่ยนบทบาทให้ ขสมก. เป็นผู้เดินรถแต่เพียงอย่างเดียวไปแล้วในอดีต ซึ่งได้สอบถามกรมการขนส่งทางบกแล้ว ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ แนวทางสำคัญหลังจากนี้ คือ การให้ ขสมก.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ workshop ร่วมกับผู้ประกอบการรถร่วมบริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ที่ขณะนี้ได้รับการจัดสรรเส้นทางเดินรถ 54 เส้นทาง สามารถนำเส้นทางมาร่วมกับการเดินรถตามแผนปฏิรูปร่วมกับเส้นทางของ ขสมก. 108 เส้นทาง
ส่วนประเด็นที่มีข้อสงสัยว่าเอกชนจะปฏิเสธการเข้าร่วมกับโครงการหรือไม่นั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของเอกชน แต่ก็จะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบและมีข้อสงสัยว่าทำไมบริการรถเมล์โดยสารที่ดีของภาครัฐ จึงมีความแตกต่างกับบริการรถร่วมฯ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวยืนยันว่า หลังจากโครงการแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในส่วนของโครงการสำคัญ เช่น การจัดหารถเมล์ไฟฟ้า (EV) 2,511 คัน ก็จะเดินตามแผน โดยได้วางกรอบเวลาว่ารถล็อตแรกจะมีการรับมอบกลางปี 2564 และรับมอบครบทั้งหมดภายในปี 2565 โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้นสามารถเร่งรัดในช่วงการรับมอบรถได้
“การรับมอบสามารถเร่งรัดได้ เช่น หากรถล็อตแรกจะมา 400 คัน ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนเป็น 450 คัน เพื่อให้การรับมอบไปจนครบจำนวนเป็นไปตามกำหนดเดิมที่วางไว้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าว
ส่วนสัดส่วนการใช้วัสดุประกอบรถในประเทศ หรือ local content ในการประกอบรถเมล์ EV นั้น ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับนโยบาย “ไทย เฟิร์ส” โดยการประกอบรถเมล์ EV นี้จะใช้วัสดุในประเทศถึง 51% .-สำนักข่าวไทย