กรุงเทพฯ 14 ก.ค. – กรมปศุสัตว์จับมือภาคีเครือข่าย 17 หน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชน กำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้หมดไปจากไทย และได้คืนสถานะปลอดโรคจากองค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศเร็วที่สุด
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) การกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ร่วมกับภาคีเครือข่าย 17 หน่วยงาน ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เขตบางเขนฯ โดยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำ เนื่องจากหากยังมีการระบาดของโรคนี้จะมีผลกระทบต่อการจัดการแข่งขันกีฬาในประเทศไทย การประกอบพิธีกรรม กิจกรรมสันทนาการ และการขนส่งเคลื่อนย้ายม้าภายในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการนำรายได้เข้าประเทศ
สำหรับการลงนาม MOU ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย มีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมลงนาม 18 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมการสัตว์ทหารบก หน่วยม้าทรงประจำพระองค์ฯ กองพันทหารม้า-ที่ 29 รักษาพระองค์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สัตวแพทยสภา ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่า สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาม้าแข่งไทย มูลนิธิม้าไทย และชมรมสัตวแพทย์บำบัดโรคม้า เป็นการปฏิบัติตามหลักความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เพื่อกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้หมดไปจากประเทศไทยและได้รับสถานะประเทศปลอดโรคกลับคืนมาในที่สุด
ด้านนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นโรคระบาดสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงม้าอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มีความสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยพาหะที่สำคัญอย่างริ้น เหลือบ และแมลงดูดเลือด จึงเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายไปในวงกว้าง และป้องกันโรคในม้า ลา ล่อ และสัตว์ที่มีความไวรับต่อโรคชนิดอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียจากการระบาดของโรค ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะทำทั้งด้านการกำหนดนโยบาย การวางแผนยุทธศาสตร์ การปฏิบัติงานในพื้นที่ และห้องปฏิบัติการ โดยประสานข้อมูลเพื่อช่วยในการเฝ้าระวังโรค ขึ้นทะเบียน ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายม้าและสัตว์อื่นที่เป็นพาหะนำโรค การประชาสัมพันธ์เตือนภัยโรคระบาดและข้อปฏิบัติให้เจ้าของม้าทราบ สร้างชุมชนสัมพันธ์ผู้เลี้ยงม้าที่มีความตระหนักและยั่งยืนในการป้องกันโรค การเฝ้าระวังโรคทางอาการ อีกทั้งการร่วมกันพัฒนา ศึกษา วิจัยและสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ และวางแผนการกำจัดโรคที่ยั่งยืนต่อไป.-สำนักข่าวไทย
