กทม. 18 มิ.ย. – การค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นช่องทางให้สินค้าผิดกฎหมายเติบโตด้วยเช่นกัน ขบวนการค้าอาวุธเถื่อนออนไลน์แบ่งหน้าที่ชัดเจน เข้าถึงลูกค้าแบบส่วนตัว ซื้อขายง่าย ส่งปืนเถื่อนถึงมือแบบไม่ต้องมารับเอง
ปฏิบัติการทลายขบวนการค้าอาวุธปืนเถื่อนออนไลน์ “แก๊งบันไรกัน” ทั่วประเทศ 31 จุด ของชุดหนุมานกองปราบ ทำให้เห็นรูปแบบการค้าอาวุธที่มีการปรับเปลี่ยนและเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้นผ่านทางออนไลน์
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมระบุว่า แก๊งค้าอาวุธมีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน จากการสืบสวนทราบว่าแก๊ง “บันไรกัน” ตั้งกลุ่มไลน์ไม่น้อยกว่าสิบกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสมาชิกจากทั่วประเทศ รวมทุกกลุ่มแล้วมีสมาชิกเกือบ 2,000 คน แต่ละกลุ่มจะมีแอดมินดูแล เมื่อนำเสนอสินค้าในกลุ่มทั้งปืนเถื่อนที่ผลิตขึ้นเอง ปืนไทยประดิษฐ์ที่หล่อขึ้นรูปเอง และปืนที่ดัดแปลงมาจากปืนบีบีกัน หากสมาชิกสนใจจะไปคุยรายละเอียดในแชทส่วนตัว เมื่อตกลงซื้อขายกัน แอดมินแต่ละกลุ่มจะรวบรวมยอดออร์เดอร์ให้คนกลางซึ่งต้องมีเครดิตดี เนื่องจากจะเป็นผู้กระจายออร์เดอร์ สั่งผลิตอาวุธปืนให้กับผู้ผลิตนับสิบราย ก่อนจัดส่งปืนไปให้ลูกค้าผ่านบริษัทขนส่งเอกชน
สำหรับการแบ่งรายได้ จะหักเปอร์เซ็นต์ตามเรตราคาอาวุธปืน ปืนราคา 10,000 บาทขึ้นไป ซึ่งมักเป็นปืนบีบีกัน คนรับออร์เดอร์หัก 1,000 บาท คนกลางหักอีก 1,000 บาท ก่อนส่งต่อให้คนผลิต หากเป็นปืนราคา 20,000 บาทขึ้นไป อาทิ ปืนจริงไม่มีทะเบียน คนรับออร์เดอร์หัก 2,000 บาท คนกลางหักอีก 2,000 บาท
ชุดจับกุมยังให้ข้อมูลอีกว่า ปืนที่นิยมสั่งซื้อมากที่สุกคือ บีบีกัน มียอดสั่งซื้อเป็น 60% ของปืนทั้งหมด ส่วน Blank Gun ที่มักใช้ในการแสดง มีเสียงดัง แต่ถูกนำมาดัดแปลงให้ใช้ยิงได้จริง ก็กำลังเป็นที่นิยมเช่นกัน
นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจอาวุธปืนแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า แม้เป็นการซื้อขายปืนที่มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่สามารถซื้อขายออนไลน์ได้ ขณะที่ผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีใบอนุญาต ผู้ซื้อต้องมีใบ ป.3 คือ ใบอนุญาตให้ซื้อปืน ที่ต้องไปยื่นคำร้องขออนุญาตซื้อต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หากนายอำเภออนุญาตให้ซื้อจะออกใบ ป.3 ให้
จากนั้นผู้ซื้อนำไปที่ร้านค้าเพื่อซื้อปืน ร้านค้าจะตัดโอนปืนออกจากโควตาร้านเป็นใบคู่มือปืน แล้วนำใบคู่มือปืนไปขึ้นเป็นใบ ป.4 คือใบทะเบียนปืนที่ระบุชื่อผู้ซื้อเป็นเจ้าของ
ขั้นตอนออนไลน์จึงทำได้เพียงร้านค้าส่งรูปปืนให้ดู ลูกค้าส่งใบ ป.3 ให้ดู สอบถามข้อมูลสินค้า แต่ไม่สามารถตกลงสัญญาซื้อขายได้ และต้องมารับปืนเอง
ผู้ประกอบการธุรกิจอาวุธปืนยอมรับว่า ปัญหาการค้าปืนเถื่อนกระทบภาพลักษณ์ของธุรกิจจำหน่ายอาวุธปืนที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมฝากเตือนผู้ที่ต้องการซื้อปืนควรขอดูใบอนุญาตและตรวจสอบร้านค้าแน่ใจ เนื่องจากปัจจุบันพบกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อร้านจำหน่ายปืนที่จดทะเบียนถูกต้องไปหลอกลวงผู้บริโภคขายปืนไม่มีทะเบียนในราคาถูก และอาจเสียเงินโดยไม่ได้รับสินค้า.- สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
►เปิดปฏิบัติการทลายแก๊ง “บันไรกัน” ผลิตปืนเถื่อน ขายออนไลน์