กรุงเทพฯ 11 มิ.ย.- มีการตั้งข้อสังเกตจากประชาชน เวลาโดนจราจรกลางล็อกล้อ ทำไมถึงมีใบเสร็จรับเงิน 2 ใบ คือ สีขาว กับสีฟ้า จากการตรวจสอบพบว่าใบเสร็จสีขาวเงินจะถูกแบ่งให้หน่วยงานต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ แต่ใบเสร็จสีฟ้า เงินจะเข้ากองทุนของตำรวจ หลายคนเกิดความสงสัยว่า กองทุนนี้คืออะไร เป็นช่องทางการจับทำยอดของตำรวจหรือไม่ ทำไมต้องแยกใบเสร็จ ติดตามจากรายงาน
พนักงานรับส่งของรายนี้ ถือเงิน 700 บาท มารอเสียค่าปรับ หลังถูกจับในข้อหาจอดรถในที่ห้ามจอด และโดนล็อกล้อ เขาบอกว่า ลงจากรถไปแค่ 3 นาที ค่าปรับ 700 บาท เท่ากับวันนี้ต้องทำงานฟรีทั้งวัน
เช่นเดียวกับหนุ่มออฟฟิศรายนี้มาจอดรถซื้อยาย่านบางลำพู ก็โดนจับเช่นกัน ทั้งหมดยอมรับว่า ทำผิดกฎจราจรจริง แต่ตั้งข้อสังเกตุว่า ทำไม บก.จร.ถึงมีใบเสร็จ 2 ใบ ใบสีขาวโดนข้อหาจอดในที่ห้ามจอด ปรับ 200 บาท ส่วนใบสีฟ้าเป็นค่าเครื่องมือบังคับล้อ 500 บาท พร้อมตั้งคำถามว่าเงินค่าปรับใบเสร็จสีฟ้าเข้าระบบหรือไม่
หลักเกณฑ์เปรียบเทียบปรับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติในใบสั่ง 1 ใบ แบ่งเป็น 50% ส่งเงินเข้าท้องถิ่น 2.5% ส่งเงินเข้ากระทรวงการคลัง 47.5% เป็นเงินรางวัลนำจับของจราจร แต่กรณีใบเสร็จสีฟ้า เงินค่าปรับจะเข้ากองทุนค่าใช้เครื่องมือบังคับล้อของแต่ละหน่วยโดยตรง ไม่ต้องแบ่งสัดส่วนให้หน่วยงานอื่น โดยมอบให้หัวหน้าหน่วยนำไปใช้ตามความเหมาะสม กรณีนี้เท่ากับว่า ค่าปรับ 500 บาท เข้าหน่วยของตัวเองเพียงหน่วยเดียว ส่วนค่าปรับ 200 บาท จะถูกแบ่งตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้
เมื่อถามว่า นี่คือการทำยอดของตำรวจจราจรหรือไม่ รอง ผบช.น. ระบุปัจจุบันตำรวจจะได้รับส่วนแบ่งจากค่าปรับไม่เกิน 10,000 บาท/นาย อยู่แล้ว ไม่ว่าจะจับมากขนาดไหน ส่วนระบบล็อกล้อยังมีความจำเป็น การจอดรถ 1 นาที ทำให้รถติด 60 คัน นี่คือเหตุผลที่ตำรวจต้องทำให้ผู้ขับขี่เข็ดหลาบ ขณะที่เงินค่าปรับที่ได้ จะนำมาเป็นค่าอุปกรณ์ด้านจราจร อาทิ กรวยยาง อุปกรณ์การล็อกล้อ ป้าย และค่าล่วงเวลาของจราจร
ทีมข่าวลงพื้นที่ ถ.เจริญรัถ ย่านวงเวียนใหญ่ จุดที่มีการล็อกล้อเป็นอันดับต้นๆ ของ กทม. ตำรวจจราจรกลาง จะขี่รถสายตรวจพร้อมอุปกรณ์ล็อกล้อไปมา ถนนเส้นนี้อนุญาตให้จอดฝั่งเดียว สลับวันคู่ วันคี่ หากพบรถจอดผิดกฎหมาย ก็จะเข้าไปล็อกล้อทันที เมื่อถามถึงสาเหตุที่ต้องล็อกล้อ ตำรวจบอกว่า ไม่ใช่การทำยอด แต่ต้องการให้ผู้ใช้รถปฏิบัติตามกฎ ส่วนค่าปรับ 700 บาท ยอมรับว่าในภาวะโควิด-19 ระบาด คนตกงาน เป็นจำนวนที่เยอะ แต่ตำรวจต้องทำ
ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ข้อหาฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร ระบุอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท มุมนี้ที่อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม มองว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เกินไป ที่ผ่านมาเคยเสนอให้ สตช.แก้ไขกฎหมาย ให้ระบุอัตราค่าปรับให้ชัดเจน คนทำผิดข้อหาเดียวกัน ไม่ควรเสียค่าปรับต่างกัน
แม้เสียงสะท้อนจากประชาชนจะดังมากแค่ไหน แต่หากยังประพฤติผิดกฎจราจร ในมุมของผู้ที่ถือบังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ขณะที่ประชาชนมองว่า กฎหมายจราจรใบสั่งมีระบบตัดแต้ม ส่งผลถึงการต่อทะเบียนรถ หากใครไม่ชำระค่าปรับ ก็มีผลเช่นกัน ดังนั้น ระบบล็อกล้อยังมีความจำเป็นหรือไม่.-สำนักข่าวไทย