ฮ่องกง 5 มิ.ย.- นักสิ่งแวดล้อมเผยว่า หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งกำลังกลายเป็นขยะเกลื่อนชายฝั่งฮ่องกง ซ้ำเติมปัญหาขยะพลาสติกที่รุนแรงอยู่แล้ว
ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มโอเชียนเอเชียในฮ่องกงเผยว่า หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งกำลังเป็นภาระอีกอย่างที่คนรุ่นนี้ทิ้งไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง ทั้งนี้ก่อนที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระบาด ทางกลุ่มได้ดำเนินการศึกษานานร่วมปีเรื่องเศษขยะในทะเลและไมโครพลาสติกที่พบตามเกาะร้างห่างไกล ขยะพลาสติกที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ ขวด บรรจุภัณฑ์ ไฟแช็ก ช้อนส้อม และหลอด แต่ขณะนี้พบขยะหน้ากากอนามัยลอยเกลื่อนทะเลและชายฝั่ง โดยเก็บได้มากถึง 70 ชิ้นบนชายฝั่ง 100 เมตร และเมื่อกลับไปในสัปดาห์ต่อมาก็เก็บได้อีก 30 ชิ้น
ปกติแล้วชาวฮ่องกงหลายคนมักสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ โดยเฉพาะช่วงเกิดไข้หวัดใหญ่ในฤดูหนาว แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องสวมเป็นประจำ แม้หลายบริษัทเริ่มผลิตหน้ากากผ้าที่ซักได้เพื่อใช้ซ้ำ และรัฐบาลเตรียมแจกหน้ากากผ้าให้แก่ประชาชน แต่หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มโอเชียนเอเชียกังวลว่า จะได้เห็นภาพซากเต่า โลมาหรือสัตว์น้ำ ถูกซัดมาเกยหาดในสภาพที่ในท้องเต็มไปด้วยหน้ากากอนามัยที่พวกมันกินไปเพราะเข้าใจว่าเป็นอาหาร ปัจจุบันชาวฮ่องกง 7.5 ล้านคนผลิตขยะปีละ 6 ล้านตัน ในจำนวนนี้ถูกนำไปรีไซเคิลเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น.- สำนักข่าวไทย