รัฐสภา 28 พ.ค.- ฝ่ายค้านยังไม่พอใจกับการอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน รัฐบาลชี้แจงไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียดแผนงาน ระบุหากไม่มีการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการใช้งบประมาณจะตั้งภาคประชาชนร่วมกับฝ่ายค้านขึ้นมาตรวจสอบ ส่วนการอภิปรายวันนี้ เน้นเรื่องสาธารณสุข
นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า รู้สึกพอใจกับภาพรวมของการอภิปรายพ.ร.ก.กู้เงิน เมื่อวานนี้(27พ.ค.) แต่ยังไม่มาก เพราะเป็นเพียงการอภิปรายภาพรวม และการชี้แจงของรัฐบาลยังไม่ชัดเจนไม่มีรายละเอียดของแผนงาน ไม่มีการสร้างการรับรู้ให้สมาชิก ส่วนวันนี้ (28พ.ค.)จะเป็นการอภิปรายลงรายละเอียดในเรื่อง การเยียวยาฟื้นฟูด้านสาธารณสุข การเกษตร การท่องเที่ยวต่อ และหลังจากนี้หากรัฐบาลจะชี้แจงชัดเจน ให้ประชาชนไว้วางใจได้ก็ไม่จำเป็นต้องขอแก้พระราชกำหนด แต่การอภิปรายที่ผ่านมายังมีเรื่องติดใจอยู่ โดยเฉพาะการยกเว้นวิธีการซื้อหรือการจ้าง หรือ E – bidding ซึ่งสะท้อนให้เห็นเจตนาว่าเปิดช่องให้เกิดการทุจริตหรือไม่
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในพระราชกำหนดรัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการป้องกันการทุจริตให้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มีหลายคนเรียกร้องให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบ เพราะในพระราชกำหนด กำหนดไว้เพียงการให้รัฐบาลรายงานต่อสภาปีละครั้ง แต่ให้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีทุก 3 เดือน จึงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่รายงานต่อสภาทุก 3 เดือนเช่นกัน ส่วนการตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี เรื่องการฟื้นฟูการเกษตร นายกรัฐมนตรีตอบเพียงว่า ทำแล้ว ทำมาตลอด แต่สิ่งที่อยากได้ยินคือ การตั้งเป้าหมายว่าจะทำได้ในระดับใด
นายสุทิน กล่าวว่า สำหรับการอภิปรายในวันนี้(28พ.ค.)จะเน้นเรื่องสาธารณสุข ที่รัฐบาลบอกว่ามีมาตรฐานสูง แต่งบประมาณที่จัดสรรไปให้จำนวน 4 หมื่น 5 พันล้านนั้นกลับเท่ากับเงินที่ต้องไปชดเชยกับตราสารหนี้ จึงอยากฟังคำชี้แจงในเรื่องนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเท่ากับการช่วยเหลือเจ้าสัว
นายสุทิน ยังกล่าวถึงการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ว่า ถ้าหากไม่มีการตั้งกรรมาธิการนี้ก็จะตั้งภาคประชาชนร่วมกับฝ่ายค้านขึ้นมาตรวจสอบอย่างแน่นอน เพราะกรรมาธิการจะตรวจสอบได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่การใช้งบประมาณครั้งนี้ยังต้องใช้อีกยาว ส่วนที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอพระราชบัญญัติขอแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนั้น ยังไม่แน่ใจว่าจะผ่านหรือไม่ ขณะที่ทิศทางการลงมตินั้น จะมีการหารือกันอีกครั้งในวันเสาร์ที่30 พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าการลงมติแต่ละฉบับจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับเหตุผล.-สำนักข่าวไทย