กทม.27พ.ค.-สสส.ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เปิดรายงานสุขภาพคนไทย 2563 ยกย่องระบบสุขภาพไทยดีเยี่ยมติดอันดับนำของเอเชียและของโลก คะแนนรวม 73.2 เกินค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบครึ่ง ติด 1 ใน 13 ประเทศพร้อมรับมือกับโรคระบาดมากสุด
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส.กล่าวว่า สสส.ขอชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ที่มุ่งมั่นทุ่มเทปฏิบัติงานเพื่อลดตัวเลขของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จนกระทั่งสถานการณ์ระบาดในไทยเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เมื่อรายงานสุขภาพคนไทย 2563 ซึ่งจัดทำโดย สสส.สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายนักวิชาการ ได้รวบรวมผลสถิติจากองค์กรที่น่าเชื่อถือในต่างประเทศ โดยพบว่าระบบสุขภาพไทยได้รับการยกย่องจากหลายสถาบันของโลกให้ติดอันดับนำในเอเชีย และดีเยี่ยมในระดับสากล
โดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ สหรัฐฯ และองค์กร ความริเริ่มด้านภัยคุกคามนิวเคลียร์(Nuclear Threat Initiative) ได้รายงานดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ปี 2562 พร้อมจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั้งหมด 195 ประเทศ ทั่วโลก พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยมีคะแนนรวม 73.2 คะแนน (คะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 40.2 คะแนน) ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดมากที่สุด
“ในด้านการป้องกันโรค ไทยได้ 75.7คะแนน (อันดับ 3 ของโลก) ความ สามารถในการตรวจจับโรค และรายงานที่รวดเร็ว ได้ 81 คะแนน (อันดับ 15ของโลก) การตอบโต้และบรรเทาผลกระทบของโรคระบาดอย่างรวดเร็ว ได้ 78.6 คะแนน(อันดับ5 ของโลก) มีระบบสุขภาพที่เข้มแข็งและมั่นคง ได้ 70.5 คะแนน (อันดับ2 ของโลก) มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ มีแผนงบประมาณด้านการป้องกันควบคุมโรค และดำเนินงานตามแนวปฏิบัติสากล ได้ 70.9 คะแนน (อันดับ 12 ของโลก) และความเสี่ยงต่อภัยคุกคามด้านชีวภาพ ได้ 56.4 คะแนน (อันดับ 93 โลก)” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษาคณะกรรมการชี้ทิศทางรายงานสุขภาพคนไทย 2563 กล่าวว่า ล่าสุด “รายงานข่าวและโลกของสหรัฐ”(U.S. News & World Report) จัดอันดับประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลก ประจำปี 2563 (Best Countries to Start a Business 2020) ให้ประเทศไทย ติดอันดับที่ 1 ประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ จากทั้งหมด 73 ประเทศทั่วโลก ซึ่งตนมองว่าระบบสุขภาพที่ดีของไทยมาจากหลายปัจจัย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขจนครอบคลุมทุกระดับทั่วประเทศ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั้งทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบการป้องกันและควบคุมโรคมาตั้งแต่ ปี 2517 และการพัฒนาระบบงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จำนวนกว่าล้านคน กระจายอยู่ทั่วประเทศมายาวนานกว่า 40 ปี ตลอดจนการจัดตั้งสถาบันวิชาการและสถาบันทางสังคมด้านสาธารณสุข ที่สำคัญเรามีบทบัญญัติตราไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2517 กำหนดให้ “การป้องกันและปราบปรามโรคติดต่ออันตราย รัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า” ซึ่งบทบัญญัตินี้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ตราไว้ในมาตรา 47 วรรค 3
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อย่างการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น การจัดการบุหรี่-ยาสูบ และโรคอ้วน โดยในเรื่องการจัดการบุหรี่นั้น ภาคีเครือข่ายสุขภาพ ได้ต่อสู้กับอุตสาหกรรมยาสูบมาอย่างยาวนานราว 50 ปี กระทั่งไทยมีกฎหมายที่เข้มแข็ง มีองค์กรสร้างเสริมสุขภาพอย่าง สสส. และน่ายินดีเมื่อคนไทยมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ
“ขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข บุคคลทั่วไป นักศึกษา ผู้กำหนดนโยบาย และสื่อมวลชน มาศึกษาอ่านรายงานสุขภาพคนไทย เพราะรายงานเล่มนี้เป็นเสมือนคันฉ่องส่องปัญหาสังคม รวมทั้งแนะโอกาสในการทำงานด้านสุขภาพอย่างรอบด้านทุกมิติ โดยเฉพาะในยุคที่ต้องหาทางอยู่ร่วมและเอาชนะโรคโควิด-19 ให้ได้ ซึ่งรายงานฉบับดังกล่าวได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบันมาคัดกรองการนำเสนอประเด็นทางสุขภาพ แหล่งที่มาของข้อมูลและสถิติที่น่าเชื่อถือ โดยในฉบับที่ 17 นี้ นำเสนอเรื่องพิเศษประจำฉบับ คือ ‘สองทศวรรษปฏิรูปการศึกษาไทย ความล้มเหลวและความสำเร็จ’ นพ.วิชัย กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานสุขภาพคนไทย 2563 ได้ทาง http://llln.me/8wCEFsW หรือติดตามได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สุขภาพคนไทย” .-สำนักข่าวไทย