กรุงเทพฯ 9 ม.ค. – สสส.จับมือ ม.รังสิต-ภาคีเครือข่าย สร้างทักษะการรู้เท่าทันการพนันป้องกันเด็ก-เยาวชน หลังพบเล่นพนันออนไลน์กว่า 3 ล้านคน และกว่า 1.4 ล้านคน เสี่ยงเป็นนักพนันที่เป็นปัญหา สู่โรคติดพนัน-ภาวะซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย-ใช้สารเสพติด
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) สร้างทักษะการรู้เท่าทันการพนันเพื่อป้องกันเด็ก และเยาวชน และเวทีเสวนา มิติทางกฎหมายและสุขภาพ การรับมือกับการพนันไร้พรมแดน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมพนันออนไลน์ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ.66 ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 15-25 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 5,010 ตัวอย่าง โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เล่นพนันออนไลน์กว่า 3 ล้านคน ผ่านการกระตุ้น ชักชวนผ่านสื่อออนไลน์แต่ละแพลตฟอร์มอย่างกว้างขวาง ซึ่งคนรุ่นใหม่ประมาณ 1.4 ล้านคน เสี่ยงกลายเป็นนักพนันที่เป็นปัญหา นำไปสู่โรคติดพนัน หรือ Pathological Gambling มีผลโดยตรงต่อสมอง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และใช้สารเสพติดสูงกว่าคนทั่วไปถึง 2-5 เท่า ด้านสภาพแวดล้อม 97% มีคนรู้จักเล่นพนัน นอกจากนี้ยังมีการแชร์ บอกต่อ หรือชักชวนให้ร่วมเล่นพนันอีกจำนวนมาก สสส.จึงได้สร้างร่วมมือผ่านโครงการสร้างเสริมศักยภาพและขยายเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม รวมถึงผลักดันกลไกเครือข่ายเฝ้าระวัง และสื่อสาร ลดผลกระทบพนันระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เชื่อมประสานวิชาการ ขับเคลื่อนสังคม พัฒนานโยบาย-ศักยภาพพร้อมขยายเครือข่ายนักรณรงค์-ชุดการเรียนรู้ ร่วมกันเฝ้าระวัง ให้ความสำคัญ เร่งป้องกัน และแก้ไขปัญหาลดนักพนันหน้าใหม่ในเด็ก และเยาวชน
ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา กล่าวว่า พนันออนไลน์ เด็ก และเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน ส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคม ครอบครัว โดยเฉพาะอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่จัดการได้ยาก การทุจริต ฉ้อโกง ขณะที่ พ.ร.บ.การพนันของบ้านเรา มีความเก่าแก่ เพราะถูกตราขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 นับเป็นเวลาเกือบ 90 ปี แม้จะถูกปรับปรุงแก้ไขบ้างในระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ก็มักจะเป็นการปรับแก้ในรายละเอียดที่ไม่ใช่สาระหลัก ไม่ทันกับยุคสมัยนี้ และเน้นปราบปรามเป็นหลัก ไม่มีเชิงป้องกัน โดยมองว่าต้องมีมาตรการทางสังคม เช่น การคุ้มครองไม่ให้เด็กเยาวชนยุ่งเกี่ยวกับการพนัน เสนอว่าอาจวางมาตรการเพิ่มเติมจากกฎหมายคุ้มครองเด็ก หรือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ป้องกันไม่ให้ลูกเข้าสู่การพนัน และสังคม ต้องคิดและถกเถียงจริงจังกว่านี้ มองผลกระทบรอบด้าน มองแนวทางและบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการผลักดันให้มีบ่อนหรือกาสิโนถูกกฎหมาย ที่มุ่งเน้นแต่เศรษฐกิจ ม.รังสิต จึงร่วมกับ สสส. และหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนานโยบายมาตรการป้องกันการเข้าถึงการพนันในเด็กและเยาวชน ผ่านการมีส่วนร่วมของบุคลากรในแต่ละหน่วยงาน รวมถึงสร้างความตระหนักเรื่องการเท่าทันพนัน และสร้างความเข้าใจกับผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้มีนโยบายไม่เพิ่มพื้นที่การพนัน
ด้านนายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ปัจจุบัน การพนันแปลงรรูปร่าง จนหลายรู้ไม่เท่าทัน เช่น เป็นเกม เว็บพนันใช้วาทกรรมเคลือบแฝงทำเป็นรูปการลงทุน ทำให้ไม่แปลกใจที่ตัวเลขของนักพนันหน้าใหม่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก่อนจะแก้ไขกฎหมายในภาพใหญ่ มองว่า สังคมและรัฐต้องชัดเจนก่อนว่าจะวางเรื่องพนัน ไว้ตรงไหนก่อน เพราะทัศนคติคนไทย มักเห็นพนันเป็นเรื่องเล่น แต่ทางการแพทย์ พนันไม่ใช่เรื่องเล่น สามารถขยายไปเป็นการเสพติดส่งผลต่อสมอง ส่วนอายุที่พบน้อยลงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเคยชิน และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผู้ใหญ่เล่นการพนัน บางคนเอาเด็กไปนั่งในวงไพ่ ให้เด็กทำนายสลากกินแบ่ง หยิบไพ่ใบ้หวย ไม่แปลกที่เด็กจะมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ หรือ ตู้เครื่องเล่น สุ่ม เสี่ยงโชค รูปแบบในห้างหลากหลาย ที่ต้องชัดเจนว่าแบบไหน เป็นพนัน ไม่ใช่ว่ามีไม่ได้ แต่ต้องชัดเจน และเด็กเยาวชนก็ไม่ควรเข้าไปเล่นได้ง่าย ดังนั้นมองว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนเข้าถึงการพนัน สังคมและรัฐต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อนที่จะแก้ไขกฎหมายในภาพใหญ่.-417-สำนักข่าวไทย