สธ.25 พ.ค.-สธ.เผยช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้น เตรียมเปิดโครงการก้าวท้าใจ season 2 ต้านภัยโควิด-19 จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ มุ่งเป้า กลุ่มสมาชิกใหม่ 5 แสนคน เพื่อหนุนคนไทยออกกำลังกายต่อเนื่อง
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการเสวนาExercise in new normalในการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่13 ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนนโยบายด้านส่งเสริมการออกกำลังกายแก่ประชาชนผ่าน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1) สร้างเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง 2) ส่งเสริมการออกกำลังกายโดยให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดี 3) ส่งเสริมการออกกำลังกายโดยใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ สื่อสารเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชน และนำไปสู่ การออกกำลังกายระดับประเทศ และ 4) ส่งเสริมให้บุคลากรสาธารณสุขเป็นต้นแบบด้านสุขภาพ (Health Model)
ซึ่งในช่วงต้นปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยได้ดำเนินโครงการก้าวท้าใจ season 1 ขึ้น โดยมีผู้สนใจ เข้าร่วมโครงการ 4.8 แสนคน รวมระยะทางสะสม 20 ล้านกิโลเมตร นับเป็นก้าวแรกที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง แต่จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการปิดสถานที่ออกกำลังกายที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อต้องอยู่บ้าน ส่งผลให้มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ
นายสาธิต กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ทำให้ประชาชนมีสถานที่ที่เอื้อต่อการออกกำลังกายมากขึ้น แต่ยังต้องมีการควบคุมและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งภายใต้สถานการณ์ในช่วงเวลานี้ กระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะดำเนินโครงการก้าวท้าใจ season 2 ต้านภัยโควิด-19 ขึ้น เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย ที่สามารถทำได้ด้วยตนเองเตรียมพร้อมสู่วิถีชีวิตใหม่ (New normal) ด้วยรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน เวทเทรนนิ่ง แอโรบิกแดนซ์ โยคะ และคีตะมวยไทย ผ่านการสะสมระยะเวลา การออกกำลังกายและสะสมแต้มสุขภาพ (Health point)
“กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานโครงการก้าวท้าใจ season 2 ต้านภัยโควิด-19 ครั้งนี้จะมุ่งไปที่กลุ่มประชาชนทั่วไป อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ชมรมออกกำลังกาย และหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายสมาชิกใหม่ 5 แสนคน ภายใต้ความร่วมมือหลายหน่วยงานร่วมกันดำเนินการให้เป็นรูปแบบตัวอย่างสำหรับการขับเคลื่อนกิจกรรมออกกำลังกายในชีวิตวิถีใหม่ ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพครั้งใหญ่ของประเทศ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การออกกำลังกายให้ได้ผลดีต่อสุขภาพนั้น ประชาชนต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละไม่น้อยกว่า 30นาที จึงจะสามารถช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจ หัวใจ ปอด และหลอดเลือด ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น ลดการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งช่วยในเรื่องของสภาพจิตใจและการเข้าสังคม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียดจากการทำงานหรือจากการเรียน และช่วยให้นอนหลับได้สนิทต่อเนื่องยาวนานมากขึ้นด้วย .-สำนักข่าวไทย