กรุงเทพฯ 13 พ.ค. – ซีอีโอ ปตท.คนใหม่ “อรรถพล” เชื่อมั่นปีนี้ผลดำเนินการยังเป็นบวก แม้ไตรมาส 1 จะขาดทุนกว่า 1,500 ล้านบาท เดินหน้าลงทุน ใช้นโยบาย PTT by PTT เสริมสร้างความยั่งยืน
วันนี้เป็นวันแรกที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท.เข้ารับตำแหน่ง โดยนายอรรถพล ได้มีการสื่อสารภายในกับพนักงานและมีการหารือกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการร่วมมือดูแลราคาปาล์มตกต่ำ
ซีอีโอ ปตท.คนใหม่ ระบุจะเข้ามาสานต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในฐานะองค์กรพลังงานของประเทศไทย เพื่อร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ซึ่งโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกและของไทยกระทบมาถึงกลุ่ม ปตท.นับเป็นเรื่องท้าทาย ซึ่งจากดูสถานภาพองค์กรก็ขอให้มั่นใจว่ามีความแข็งแกร่งผลดำเนินการทั้งปีจะเป็นบวก แม้ว่าไตรมาส 1 จะขาดทุนถึงกว่า 1,500 ล้านบาทก็ตาม โดยแนวดำเนินการนอกจากจะดูถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายแล้วก็จะมีความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อต่อยอดธุรกิจอีกด้วย
“ปตท.มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และสงครามราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจากการประเมินฐานะการเงินในกรณี Stress test ปตท.มั่นใจว่าผลการดำเนินงานปี 2563 จะเป็นบวก แม้ในไตรมาส 1/2563 จะมีผลขาดทุนสุทธิ 1.55 พันล้านบาท กระทบกับผลการดำเนินงานของ ปตท.ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ขณะที่คาดว่าธุรกิจน่าจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4″ นายอรรถพล ระบุ
นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท.ได้ทำการประเมินศักยภาพองค์กร โดยการทำ Stress Test มั่นใจองค์กร ปตท.ยังมีความเข็งแกร่ง โดยในกรณีแย่ที่สุดปีนี้ผลประกอบการโดยรวมของ ปตท.จะยังเป็นบวก รวมถึงยังมี room ความพร้อมที่จะลงทุนในปีนี้ของทั้งกลุ่ม ปตท.ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท และมีศักยภาพที่จะลงทุนต่อเนื่องไปอีก 5 ปีในธุรกิจใหม่ ๆ อีกประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท อีกทั้งสถาบันเครดิตทางการเงินได้เข้ามาประเมินแล้วให้เครดิตเรทติ้งกลุ่ม ปตท.ที่ BBB+ ซึ่งถือว่ายังอยู่ใน Investment Grade
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทย โดยในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ( GDP) ของไทยปีนี้น่าจะติดลบ 5.3% ซึ่งถือเป็นความความโชคดีที่ไทยมีระบบสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นมืออาชีพ ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยลง และได้เน้นย้ำกับพนักงานของ ปตท.ว่าแม้รัฐจะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลง แต่พนักงาน ปตท.ทุกคนยังต้องเคร่งครัดกับการดูแลตัวเองตามมาตรการรัฐ ในเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย ดูแลเรื่องความสะอาด เพื่อเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้โควิด-19 เกิดการระบาดซ้ำ
ส่วนการปรับตัวรองรับสถานการณ์และลดผลกระทบของปตท.นั้น ได้มีการจัดตั้ง PTT Group Vital Center ขึ้นมา เพื่อที่จะดูแลและบริหารจัดการในช่วงนี้ รวมทั้งการวางแผนไปข้างหน้า โดยการบริหารจัดการจะดำเนินการตาม 4 R ประกอบด้วย Resillience การสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร โดยจัดทำ Stress test ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จัดลำดับความสำคัญโครงการลงทุนของปตท. จัดทำ Group optimization ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้ง Value Chain และการรักษาสภาพคล่องขององค์กร, Restart เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจนำพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด รักษาความสามารถในการแข่งขันของกลุ่ม ปตท.ไว้ให้ได้, Re-imagination การเตรียมความพร้อมที่จะออกแบบธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนทางธุรกิจที่จะเป็น Next Normal ทั้งธุรกิจ ต้นน้ำ ปลายน้ำ และ New S Curve และ Reform จะต้องมีการปรับเปลี่ยน จัดโครงสร้างองค์กร รูปแบบธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคตพร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดแบบไม่คาดคิดได้ทุกเมื่อ โดยเตรียมที่จะนำแผนของ Re-imagination และ Reform เข้าสู่ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกลุ่ม ปตท.เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางในอนาคตกลุ่ม (Strategic Thinking Session:STS) ต่อไป
ทั้งนี้ ตนมีแนวคิดที่เรียกว่า Powering Thailand’s Transformation หรือ PTT โดยเรียกว่า PTT by PTT เพื่อดำเนินงาน ซึ่ง P คือ Partnership & Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตร และการสร้างธุรกิจของ ปตท.ให้มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์ม มากว่าการเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือจำหน่ายสินค้า โดย ปตท.จะดึงพันธมิตรที่มี knowhow จากต่างประเทศ ความร่วมมือทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ผู้ประกอบการไทย เอ็สเอ็มอี สร้าง New Business Model และ New Eco system ร่วมกัน
T คือ Technology for all ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่าง โนสาว นวัตกรรม และดิจิทัล ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ใช้ในทุกมิติการดำเนินงานทั้งการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ การบริหารจัดการองค์กร การขับเคลื่อนสู่ภายนอก สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม และ T ตัวสุดท้าย อ Transparency สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ พัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน สำหรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยในธุรกิจของ ปตท.ยังเน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้หน่วยธุรกิจหลัก สร้างความเติบโตในหน่วยธุรกิจต่อเนื่อง ผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ให้เป็นรูปธรรมให้ได้
นายอรรถพล อายุ 54 ปี เพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คนที่ 10 ของ ปตท.วันนี้แทนนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ที่เกษียณอายุเมื่อวานนี้.-สำนักข่าวไทย