กรุงเทพฯ 5 พ.ค.- ปลัดกระทรวงคมนาคม ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ–เอกชน ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการเดินทาง และขอให้กำหนดมาตรการทำงานที่บ้าน หรือเดินทางเท่าที่จำเป็น และสลับ/เหลื่อมเวลาการทำงาน เพื่อลดความแออัดในการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยมีมาตรการที่เข้มงวดขอให้ประชาชนอยู่ในเคหสถาน เดินทางเท่าที่จำเป็น และเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตลอดจนการสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ และกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายดังกล่าว เช่น การคัดกรองผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการในระบบรถสาธารณะ การกำหนดให้ต้องสวมหน้ากากตลอดระยะเวลาการเดินทางในทุกระบบ รวมถึงการจัดเจลแอลกอฮอล์เพื่อบริการประชาชน เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในสถานีและยานพาหนะ ที่สำคัญคือการกำหนดที่นั่ง ที่ยืน การเข้าแถวคอยรับบริการ ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ผู้บริการ และประชาชน จนเป็นผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมากในขณะนี้
กระทรวงคมนาคมจึงอยากขอความร่วมมือหน่วยงานทุกภาคส่วนในการให้ความร่วมมือปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) เพิ่มมากขึ้น และกำหนดให้มีการสลับ/เหลื่อมเวลา การทำงาน และมีการเดินทางเท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว จนถึง 31 พฤษภาคม 2563 พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่ให้บริการขนส่งสาธารณะทุกระบบ ทั้ง ทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ จัดเจ้าหน้าที่บริหารจัดการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ภายในอาคารสถานี ชานชาลา และภายในยานพาหนะอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการกลับมาระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรงภายในประเทศอีก
ทั้งนี้ที่ผ่านมาภาพรวมของปริมาณผู้โดยสารที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่มีนาคมจนถึงปัจจุบัน มีสัดส่วนที่ลดลงประมาณ 70-80% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้สามารถดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้ โดยการเว้นที่นั่งและที่ยืนในการโดยสาร 1-2 เมตร
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้มีการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นปัญหาในการจัดการให้บริการให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด 19 ของผู้โดยสารในบางระบบการเดินทาง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปฏิบัติมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 เช่น การสลับ/เหลื่อมเวลาทำงาน การ Work From Home ควบคู่กับความร่วมมือร่วมใจของประชาชนผู้เดินทางในการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างทางสังคม วางแผนและเผื่อเวลาในการเดินทาง เพื่อให้สามารถกระจายความหนาแน่นแออัดในการเดินทางช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเร่งแก้ปัญหา ความแออัดในระบบขนส่งสาธารณะหลังจากมีการคลายล็อคทางด้านเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอยู่ในช่วงเฝ้าระวังขณะนี้ เนื่องจากพบปัญหาดังตัวอย่าง ที่เกิดขึ้นของการขัดข้องระบบรถไฟฟ้า BTS เช้าวันนี้ หลังเกิดระบบขัดข้องล่าช้า ก่อนเปิดให้บริการช่วงเช้า (05.00 น.) และขบวนรถไม่สามารถเข้าสถานีด้วยความถี่ปกติ ประกอบกับมาตรการ Social Distancing ที่จำกัดคนขึ้นขบวนรถ เพื่อเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ก็ทำให้มีประชาชน ที่เดินทางเกิดการกระจุกตัวคับคั่งอยู่ภายในสถานีและชานชาลา เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะมีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องหรือไม่ การรักษาระยะห่างทางสังคม จะสามารถปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัด ระบบขนส่งสาธารณะ จะต้องไม่มีผู้โดยสารเดินทางมากเกินไป ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงเห็นว่ามาตรการ Work From Home และเดินทางเท่าที่จำเป็น จนถึงมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน จึงยังมีความจำเป็นอยู่ในช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีการระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด-19 .-สำนักข่าวไทย