กทม.29 เม.ย.- จับเพิ่มโพสต์ข่าวปลอมหรือบิดเบือน ทำตื่นตระหนกและสับสนในสังคม ในช่วงที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 8 ราย
หลังนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับการเสนอข่าวปลอมหรือบิดเบือน สร้างความตื่นตระหนกและความสับสนในสังคม ช่วงรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการไปแล้วหลายรายนั้น ล่าสุด ที่ชั้น 9 กระทรวง ดีอีเอส ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ พลตำรวจตรีพันธนะ นุชนารถ ในฐานะหัวหน้าชุดประสานความร่วมมือกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวง ดีอีเอส เปิดเผย ว่าสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้อีก 8 คน หลังมีพฤติกรรมโพสต์ข่าวปลอมหรือบิดเบือน สร้างความตื่นตระหนกและความสับสนในสังคม ในช่วงที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยรายที่ 1 ถึง 7 ได้โพสต์ข้อความว่า “ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชม. ทั่วประเทศ” ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจ จนพบตัวและดำเนินคดีแล้ว 5 ราย ประกอบด้วย 1. นางสาวปัทมาพร ฯ ผู้ใช้เฟสบุ๊ก Pattamaporn อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ 2. นางสาวกาญจนาภรณ์ ฯ ผู้ใช้เฟสบุ๊ก Namfon … อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ 3. นางสาวสุวดี ฯ ผู้ใช้เฟสบุ๊ก สุวดี … อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 4. นางสาวศศิธร ฯ ผู้ใช้เฟสบุ๊ก Bag bag … อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 5. นางณัชอร ฯ ผู้ใช้เฟสบุ๊ก ณัชอร … อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนอีก 2 ราย พบตัวแล้วอยู่ระหว่างดำเนินคดี ได้แก่1. นายสิทธิพร ฯ ผู้ใช้เฟสบุ๊ก “ขั้นเทพ”… อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ2. นางสาววันนา ฯ ผู้ใช้เฟสบุ๊ก “Wanna” … อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ สำหรับรายที่ 8 ได้โพสต์ข้อความว่า “1 พ.ค. นี้ ชลบุรีจะกลับมาสู่ภาวะปกติ” คือ นางภัชราภรณ์ ฯ ผู้ใช้เฟสบุ๊ก “ภัชราภรณ์” … อยู่ในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทั้งนี้ นางสาวปัทมาพร (ผมยาว ใส่แมส) 1 ในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ ออกมาให้ข้อมูล และขอโทษกับสิ่งที่ได้โพสต์ลงไป โดยยืนยันว่าเมื่อเห็นข่าวก็ได้มีการก๊อปข้อความและนำมาแชร์ข้อความต่อโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบ และรู้เท่าทันไม่ถึงการณ์ว่าจะถูกจับกุม พร้อมฝากเตือนคนทั่วไปที่เจอข่าวต่างๆ ไม่ควรแชร์ หรือโพสต์ เพราะบางครั้งก็อาจเป็นข่าวลวง ซึ่งอาจจะทำให้ได้รับทีหลัง ก่อนโพสต์หรือก่อนแชร์ต้องคิดดูให้ดี
พลตำรวจตรีพันธนะ เปิดเผยว่า ที่ผ่านตำรวจได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำงานกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบและดำเนินการกับผู้ที่เสนอข่าวปลอม หรือบิดเบือน โดยเฉพาะในช่วงที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยพบว่ายังมีผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดทั้งที่ตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ล่าสุด มีผู้กระทำความผิดลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากมีการจับกุมอย่างจริงจังต่อเนื่อง จึงขอเตือนประชาชนว่า ก่อนที่จะโพสต์หรือแชร์ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง ต้องคิดให้ดีและตรวจสอบความถูกต้องเสียก่อน เพราะเมื่อทำไปแล้วถือว่าความผิดสำเร็จ ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.-สำนักข่าวไทย