บุรีรัมย์ 28 เม.ย. – ภรรยาผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่งใน ต.หนองแวง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ถูกกล่าวหาเรียกเก็บเงินค่าดำเนินการติดสติกเกอร์บุรีรัมย์ เฮลท์ตี้ บนบัตรประจำตัวประชาชน จากชาวบ้านรายละ 20 บาท เพื่อรับรองปลอดโรคโควิด-19 ไม่เป็นความจริง น่าจะเป็นการเข้าใจผิด
กรณีชาวบ้านโพสต์คลิปในโซเชียลแฉว่ามีผู้ใหญ่บ้านแห่งหนึ่งในตำบลหนองแวง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เรียกเก็บเงินค่าดำเนินการติดสติกเกอร์บุรีรัมย์ เฮลท์ตี้ บนบัตรประจำตัวประชาชนจากชาวบ้านรายละ 20 บาท เพื่อรับรองปลอดโรคโควิด-19 ตามมาตรการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนตำรวจจะเข้าจับกุมสอบสวนดำเนินคดี
ล่าสุดผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยลงพื้นที่ไปยังบ้านผู้ใหญ่บ้านคนที่ถูกกล่าวหา พบเพียงภรรยาและเพื่อนบ้านนั่งเล่นอยู่เท่านั้น ส่วนผู้ใหญ่บ้านไปปฏิบัติหน้าที่จุดตรวจโควิดในหมู่บ้าน แต่เมื่อไปหาที่จุดตรวจก็ไม่พบ
นางยุรี แก้วอรสาน ภรรยาของผู้ใหญ่ ยืนยันว่าไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าติดสติกเกอร์จากชาวบ้าน พร้อมชี้แจงว่าวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้านได้รับสติกเกอร์มาจากอำเภอ จึงประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านนำบัตรประชาชนมาติดสติกเกอร์ที่บ้าน แต่การติดสติกเกอร์ชาวบ้านจะต้องลงทะเบียนบุรีรัมย์ เฮลท์ตี้ ผ่านระบบออนไลน์เพื่อยืนยันตัวตนก่อน จึงให้เด็กนักเรียนในหมู่บ้านมาช่วยทำให้คนเฒ่าคนแก่ บางคนพอทำได้แล้วก็เห็นว่าเด็กซึ่งเป็นลูกเป็นหลานคนในหมู่บ้านมาช่วยก็แสดงน้ำใจด้วยการให้ค่าขนมคนละ 20 บาท 50 บาท 100 บาทบ้าง แต่ไม่ได้มีใครเรียกเก็บหรือเรียกร้องตามที่ถูกกล่าวหา
ส่วนภาพที่ปรากฏในคลิปที่เผยแพร่ในโซเชียลเป็นภาพที่ลูกบ้านคนหนึ่งในหมู่บ้านอาจเข้าใจผิดคิดว่าเรียกเก็บเงิน จึงให้ลูกชายเดินเอาเงินมาให้ 60 บาท แล้วจู่ๆ ก็มาโวยวายว่าทำไมต้องเรียกเก็บเงิน ทั้งที่ไม่ได้มีใครเรียกเก็บ จึงคืนเงินให้ไปก็คิดว่าเรื่องจบ ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว แต่กลับนำคลิปไปเผยแพร่ จนเจ้าหน้าที่นำตัวสามีไปสอบสวน จึงอยากเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะวันที่เกิดเหตุสามีไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และในคลิปไม่ปรากฏว่ามีการจ่ายหรือรับเงิน
นางจ้อน ชาวบ้านซึ่งปรากฏอยู่ในคลิป บอกว่า วันที่เกิดเหตุตนเองนำบัตรประชาชนมาติดสติกเกอร์เหมือนกัน ไม่เห็นมีใครเรียกเก็บเงิน พอติดสติกเกอร์เสร็จก็ขับรถออกไปซื้อของที่ตลาด กลับมาก็ซื้อขนมมาฝากเด็กๆ ที่มาช่วยลงทะเบียนติดสติกเกอร์เท่านั้น ส่วนภรรยาผู้ใหญ่บ้านยืนย้อมผมให้กับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอยู่ จู่ๆ มีชาวบ้านคนหนึ่งมาโวยวายว่าทำไมต้องเรียกเก็บเงิน ตนเองยืนยันว่าไม่ได้มีการเรียกเก็บ น่าจะเป็นการเข้าใจผิดมากกว่า
นางสมศรี ชาวบ้านอีกคนที่นำบัตรประชาชนไปติดสติกเกอร์ เล่าว่า วันที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 25 เมษายน ตนเองมีเงินอยู่ 200 บาท เพราะตอนนี้ไม่ค่อยมีใครจ้างงาน ตั้งใจนำเงินไปซื้อข้าวสารมาหุงไว้ให้คนในครอบครัวทั้ง 6 ชีวิตได้กิน แต่พอได้ยินผู้ใหญ่ประกาศว่าสติกเกอร์มาแล้ว ให้นำบัตรประชาชนไปติด เพื่อแสดงการปลอดโรคโควิด-19 ด้วยกังวลว่าหากไม่นำบัตรประชาชนไปติดสติกเกอร์จะไม่สามารถไปไหนมาไหนหรือซื้อของที่ตลาดได้ จึงรีบนำบัตรประชาชนไปที่บ้านผู้ใหญ่ แต่พอไปติดเขาบอกว่าต้องจ่ายค่าสติกเกอร์คนละ 20 บาท ก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร ซึ่งบ้านตนเองมีทั้งหมด 5 คน จ่ายไป 100 บาท เหลือเงินติดตัวเพียง 100 บาท จึงเก็บไว้ ยังไม่ซื้อข้าวสาร แล้วเดินกลับบ้าน กระทั่งช่วงสายผู้ใหญ่ก็เดินเอาเงิน 100 บาท มาคืนให้ที่บ้าน แต่ไม่ได้ถามว่าเพราะอะไร แต่ก็ดีใจที่ได้เงินคืน เพราะตอนนั้นมีเงินติดตัวแค่ 200 บาท จึงนำเงินที่ได้คืนไปซื้อข้าวสาร
สำหรับมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบุรีรัมย์ ตามแนวทาง Buriram Healthy Model ระหว่างวันที่ 1-31 พฤษภาคม ข้อที่ 2 บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยอยู่ในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ท้องที่ใดก็ตาม ต้องมีสติกเกอร์ เครื่องหมายแสดงการปลอดโรคโควิด-19 ติดอยู่บนบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่พบสติกเกอร์บนบัตร จะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน.-สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
►ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ สั่งสอบผู้ใหญ่บ้านรีดเงินแลกสติกเกอร์ปลอดโควิด