กรุงเทพฯ 27 เม.ย. – ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย วอนกระทรวงพาณิชย์ยกเลิกห้ามส่งออกไข่ไก่ ร้องไข่ไก่ล้นตลาดจนราคาหน้าฟาร์มร่วง เกษตรกรขาดทุนเลิกเลี้ยงจำนวนมาก หากปล่อยยืดเยื้อ ผู้ได้ประโยชน์คือพ่อค้าคนกลาง ขณะราคาหน้าแผงไม่ได้ลดลง
นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า เกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงไก่ไข่แจ้งขายแม่ไก่ยืนกรง เพื่อเลิกเลี้ยงกว่า 40 ราย ใน 10 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากขาดทุน ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มตามประกาศรับซื้อของสมาคมผู้เลี้ยง ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่อยู่ที่ 2.60 บาทต่อฟอง ลดลงจากฟองละ 2.80 บาทเมื่อเดือนมีนาคม เป็นผลมาจากผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกินสะสมมานานกว่า 3 สัปดาห์แล้ว หลังจากมีการซื้อกักตุนของประชาชนและพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากความตื่นตระหนกสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ประกอบกับกำลังซื้อที่ลดลงของประชาชน ส่งผลให้ไข่ไก่ล้นตลาด ราคาขายต่ำลง แม้ราคาประกาศจะอยู่ที่ 2.60 บาทต่อฟอง แต่พ่อค้ารับซื้อต่ำกว่ามากอยู่ที่ฟองละ 2 – 2.30 บาทแล้วแต่ภูมิภาค อีกทั้งต้นทุนผลิตไข่ไก่สูงขึ้นจากภัยแล้ง เกษตรกรบางพื้นที่ต้องซื้อน้ำสะอาดให้แม่ไก่กินแทงค์ละ 500 – 1,000 บาทแล้วแต่ระยะทาง
นายสุเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงรายย่อยภาคใต้ขาดทุนจนต้องเลิกเลี้ยง จึงร้องขอให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกประกาศห้ามส่งออกไข่ไก่ทันที ไม่ต้องรอวันที่ 30 เมษายน โดยระบุว่ากระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าจะยกเลิกประกาศทันที เมื่ออุปสงค์และอุปทานไข่ไก่ในประเทศสมดุล ซึ่งควรยกเลิกตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน ส่วนมาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้ยืดการปลดแม่ไก่ยืนกรงนานกว่า 80 สัปดาห์นั้น ควรยกเลิกเช่นกัน เพราะแม่ไก่อายุมากจะให้ไข่คุณภาพต่ำ เปลือกบาง เสียง่าย รวมทั้งเสี่ยงจะติดโรคต่าง ๆ มากกว่าไก่สาว ปัจจุบันไทยมีแม่ไก่ยืนกรง 49 ล้านตัว ให้ผลผลิตไข่ไก่ 41 ล้านฟองต่อวัน บริโภคภายในประเทศเฉลี่ยวันละ 39 ล้านฟอง ดังนั้น จึงมีไข่ไก่ส่วนเกินประมาณ 3 ล้านฟองต่อวันที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในห่วงโซ่ผลผลิตไข่ไก่มีเกษตรกรเป็นผู้ผลิต ส่วนพ่อค้าคนกลางเป็นตัวแปรสำคัญในการปล่อยไข่ไก่ออกสู่ตลาดหรือเก็บไข่ในห้องเย็น ชะลอการขายเพื่อเก็งกำไรหรือเทขายหากคาดการณ์ว่าราคาไข่จะตกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะไข่ไก่ล้นเกษตรกรต้องจำใจขายให้พ่อค้าราคาต่ำกว่าราคาประกาศรับซื้อ ซึ่งขาดทุน จึงขอให้กรมการค้าภายในตรวจสอบปัญหานี้ด้วย
นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า ไข่ไก่เป็นสินค้าอ่อนไหว หากมีปัจจัยต่าง ๆ มากระทบจะส่งผลถึงราคาหน้าฟาร์มได้ง่าย สถานการณ์ที่ผ่านมาไม่ใช่วิถีปกติ คือ เกิดความตระหนกของประชาชน หรือการกักเก็บ เพื่อทำกำไรของพ่อค้าคนกลาง ส่วนแทรกแซงกลไกตลาดไข่ไก่ล้วนก่อให้เกิดผลเสียต่อเกษตรกรผู้ผลิตไข่ไก่มากขึ้น เช่น การห้ามระบายผลผลิตส่วนเกินออกนอกประเทศ ทำให้เกิดภาวะไข่ล้นตลาด ทั้งที่การระบายไข่ไก่ไปขายต่างประเทศเป็นไปตามมาตรการขอความร่วมมือของภาครัฐในการสร้างภาวะสมดุลของอุปสงค์-อุปทาน ผู้ประกอบการต้องขายราคาขาดทุน ด้วยราคาส่งออกเฉลี่ยฟองละ 2 บาท ยังไม่รวมต้นทุนค่าจัดการต่าง ๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกษตรกรให้ความร่วมมือตลอด จนกระทั่งกระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามส่งไข่ไก่ออกนานกว่า 1 เดือน เกษตรกรขายขาดทุน แต่ราคาที่แผงค้าผู้บริโภคซื้อยังอยู่ที่ฟองละ 4-5 บาท ไม่ได้ลดลงตามราคาหน้าฟาร์ม ดังนั้น ผู้ได้ประโยชน์ คือ พ่อค้าคนกลางซึ่งยิ่งไข่ไก่เกินภาวะสมดุลมาก ยิ่งได้กำไรมาก
“วอนกระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาด่วนที่สุด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ไม่เช่นนั้นรายย่อยจะอยู่ไม่ได้ทั้งหมด เหลือแต่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ที่ทำตลาดเอง” นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าว.-สำนักข่าวไทย