กทม. 13 เม.ย. – หลังเริ่มมีข้อกังวลว่าเครื่องช่วยหายใจสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการวิกฤติจะมีไม่เพียงพอ สำนักข่าวไทยตรวจสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พบตอนนี้ในไทยยังมีเครื่องช่วยหายใจประสิทธิภาพสูงที่ใช้รักษาผู้ป่วยหนักมากกว่าจำนวนเตียงไอซียูที่เตรียมไว้ 2-3 เท่าตัว ส่วนที่หลายฝ่ายช่วยผลิตเครื่องช่วยหายใจ ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงกับผู้ป่วยโควิด หรือผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนได้
การช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ปอดอักเสบรุนแรง วิกฤติจนต้องใช้เครื่องช่วยหายเหมือนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ยังพบไม่มากในผู้ป่วยของไทย เพราะส่วนใหญ่ติดเชื้อโควิดในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ และหัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ตอนนี้โรงพยาบาลศิริราชดูแลผู้ป่วยโควิดที่อาการวิกฤติอยู่ 10 ราย 60% เป็นผู้สูงอายุ ในจำนวนนี้มีเพียง 4 ราย ที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ส่วนที่เหลืออีก 6 ราย ใช้เครื่องจ่ายออกซิเจนอัตราไหลสูง และอุปกรณ์พยุงอวัยวะขั้นสูงอื่นๆ ในการรักษา
ขณะที่ยอดรวมผู้ป่วยโควิดที่มีอาการวิกฤติ ทั่วประเทศตอนนี้มีอยู่ราว 40 ราย หรือประมาณ 1% ของยอดผู้ติดโควิด-19 ทั้งหมด ในจำนวนนี้กว่า 30 ราย กระจายตัวรักษาอยู่ในโรงพยาบาลเครือข่ายของรัฐและเอกชน 30 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนที่เหลือรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลประจำจังหวัดขนาดใหญ่
นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ บอกอีกว่า ในผู้ป่วยวิกฤติทั้ง 40 รายนี้ มีเพียง 50% หรือประมาณ 20 รายเท่านั้นที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ส่วนที่เหลือใช้อุปกรณ์พยุงอวัยวะขั้นสูงอื่นๆ ในการรักษาได้ พร้อมย้ำอาการของผู้ป่วยโควิดวิกฤติ มีทั้งที่ปอดอักเสบมาก อักเสบน้อย และขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนว่ามีโรคเรื้อรังอยู่เดิมหรือไม่ ฉะนั้นการใช้เครื่องช่วยหายใจไม่จำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วยโควิดวิกฤติทุกราย
อีกทั้งเครื่องช่วยหายใจประสิทธิภาพสูงที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโควิดวิกฤติได้ ทั่วทั้งประเทศขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1,500 เครื่อง มากกว่าจำนวนเตียงไอซียูที่เตรียมไว้รองรับผู้ป่วยโควิดวิกฤติถึง 3 เท่าตัว
การรักษาผู้ป่วยวิกฤติจากโรคโควิด-19 แต่ละราย ใช้เวลาเฉลี่ย 3-6 สัปดาห์ ทำให้ต้องมีการขยายจำนวนเตียงไอซียูที่ใช้รักษาในห้องความดันลบเพิ่มขึ้น จากที่เตรียมไว้ 80 เตียง จะขยายเพิ่มเป็น 120 เตียง ภายในเดือนเมษายน และเพิ่มเป็น 200 เตียง ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่หากสถานการณ์รุนแรง ก็สามารถเพิ่มศักยภาพได้ถึง 500 เตียง กระจายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค
ส่วนการพัฒนาเครื่องช่วยหายใจประสิทธิภาพสูง ที่จะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิดวิกฤติ ยังไม่สามารถผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น ที่หลายฝ่ายผลิตขึ้นเป็นเพียงเครื่องช่วยหายใจกลุ่มพื้นฐาน ประยุกต์ใช้ได้เฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนเท่านั้น
ผู้วางแผนรับมือผู้ป่วยโควิดวิกฤติ ย้ำทั้งเครื่องช่วยหายใจ จำนวนเตียงไอซียู และบุคลากรทางการแพทย์ ตอนนี้ยังถือว่ามีเพียงพอสำหรับผู้ป่วยโควิดวิกฤติที่คาดการณ์ไว้ แต่หากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือป้องกันตัวเอง ปล่อยให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นพร้อมกันจำนวนมาก ก็ยากที่จะคาดการณ์ อัตราการตายของไทยซึ่งอยู่ที่ 25% อาจเพิ่มสูงขึ้นเหมือนในต่างประเทศที่มีมากถึง 50%.- สำนักข่าวไทย