นนทบุรี 12 เม.ย. – เอฟทีเอดันไทยขึ้นแท่นเบอร์ 1 ส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปไปญี่ปุ่น เผย 2 เดือนแรกปี 63 ฟันรายได้เข้าประเทศ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่า ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอที่ไทยมีกับญี่ปุ่น 2 ฉบับ คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปอันดับ 1 ของญี่ปุ่น รวมถึงการส่งออกสินค้าดังกล่าวยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แม้ 2 ประเทศอยู่ในช่วงภาวะวิกฤติจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
นางอรมน เพิ่มเติมว่า สินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปเป็นสินค้าที่ญี่ปุ่นไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับไทยมีเอฟทีเอกับญี่ปุ่นเป็นแต้มต่อ โดยญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยเหลือร้อยละ 0-8.5 และลดภาษีนำเข้าไก่แปรรูปเหลือร้อยละ 0-3 ทำให้ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปญี่ปุ่นเป็นมูลค่าสูงถึง 66.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งออกไก่แปรรูปมูลค่า 234.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ปี 2562 ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูปไปญี่ปุ่น มูลค่า 1,764.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.18 เมื่อเทียบกับปี 2561 รองลงมา คือ บราซิล มูลค่าการส่งออก 873.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีน การส่งออก 834.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอรมน เสริมว่า ปัจจุบัน JTEPA มีผลให้ญี่ปุ่นยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากไทยร้อยละ 88.1 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น กุ้ง ปลาหมึก ผักและผลไม้สดและแห้ง ผักและผลไม้แปรรูป อาหารทะเลสำเร็จรูป ไก่ต้มสุก อัญมณี สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เคมีภัณฑ์ รองเท้าและเครื่องหนัง เป็นต้น ขณะที่ AJCEP ทำให้ญี่ปุ่นยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากไทยแล้ว ร้อยละ 90.16 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง กุ้ง ปู ปลาหมึกยักษ์แช่แข็ง/แปรรูป และแมงกะพรุน ปลาปรุงแต่ง ผักผลไม้กระป๋อง/แปรรูป น้ำผลไม้ ซอสปรุงรส เครื่องแกง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณี ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องหนัง เป็นต้น โดยในปี 2562 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิ์เอฟทีเอ 2 ฉบับ รวมมูลค่า 7,456.30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 91.9 ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ และนำเข้าจากญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิ์เอฟที 2 ฉบับ รวมมูลค่า 7,909.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 46.5 ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ์.-สำนักข่าวไทย