สธ. 7 เม.ย.- อธิบดีกรมวิทย์ แจงปมถูกกล่าวหาทุจริตชุดตรวจโควิด -19 ยันทำตามขั้นตอน เพราะหลักฐานทางวิชาการไม่ได้ผลดี ไม่มีผลกับการรักษา ยืนยันโดย 3 สถาบันแพทย์ หากจงใจทุจริตต้องหนุนให้ได้ใช้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีการถูกกระแสกดดันให้เร่งตรวจรับรองชุดตรวจโควิด-19 ( RAPID TEST) ว่า ยืนยันว่าจากที่มีเสียงเรียกร้องมีความกดดัน ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เร่งตรวจรับรองชุดตรวจยืนยันโควิดนี้ แต่ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันในหลักการทางวิชาการมาตลอดว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่เหมาะสม ยังเป็นการตรวจด้วยหาหาสารพันธุกรรม หรือ แบบ RT PCR ที่เป็นการนำสารคัดหลั่ง น้ำมูก เสมหะ มาตรวจหาเชื้อ ถึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะการตรวจแบบ RAPID TEST เป็นการตรวจแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่สามารถรู้แค่เพียงว่า เคยป่วยมาก่อนหรือไม่ ไม่มีผลกับการรักษา ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยืนยันทั้งจาก คณะแพทยศาสตร์ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,รามาธิบดี,ศิริราช โดยทุกโรงเรียนแพทย์ ยังคงให้การตรวจแบบ RT PCR ซึ่ง หากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิหรือคณะกรรมการมีเจตนาทุจริตจริงอย่างที่มีการกล่าวหา ก็คงต้องรีบให้การรับรองชุดตรวจเหล่านี้ไปแล้วและต้องมีการสนับสนุนให้มีการใช้อย่างกว้างขวาง แต่ทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อย. กลับทำตรงกันข้าม โดยยืนหยัดในหลักการทางวิชาการและความเป็นมืออาชีพในการต่อสู้กับโรคระบาดตามหลักวิชาการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เคยทุจริต ไม่เคยถูกครอบงำจากกลุ่มใดหรือผู้ใดที่ไม่ถูกต้อง
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการตรวจแบบ RT PCR เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำใช้ในการตรวจรักษา โดยผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการภายใน 3-5 วัน ส่วนการตรวจแบบ RAPID TEST จะสามารถต่อเมื่อเคยมีประวัติการป่วย แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า ป่วยมานานแค่ไหนแล้ว .-สำนักข่าวไทย