กรุงเทพ ฯ 31 มี.ค. – ซีไอเอ็มบีไทย หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 63 หดตัว 6.4% จากเดิมคาดโต 1.7% รับผลโควิด-19 พร้อมแนะทางรอดก่อนเศรษฐกิจทรุดเข้าเฟส 4
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารแ (CIMBT) กล่าวว่า สำนักวิจัยฯ ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจไทย จากเดิมขยายตัว 1.7% เป็นหดตัว 6.4% ตามภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 และน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากสถานการณ์เลวร้ายไปอีก เศรษฐกิจไทยคงเข้าสู่ภาวะวิกฤตตามเศรษฐกิจโลก เพราะมีความเสี่ยงเติบโตช้าจากปัญหาสงครามการค้า ภัยแล้ง และงบประมาณล่าช้า ก่อนจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นายอมรเทพ กล่าวว่า การระบาดทางเศรษฐกิจถือว่าเข้าสู่เฟส 3 เรียบร้อยแล้ว ประเทศไทยจะต้องเร่งยับยั้งก่อนเศรษฐกิจไทยเข้าสู่เฟส 4 เพราะคาดว่าหากปัญหาไวรัสระบาดลากยาว เศรษฐกิจจะทรุดหนักจนเกิดวิกฤติขึ้นมา ซึ่งจะเกิดผ่านปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ กลุ่มภาคธุรกิจที่มีปัญหาหนี้สูงและเป็นกลุ่มที่อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน จะเป็นกลุ่มที่อาจผิดนัดชำระหนี้ และอาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบตลาดเงินและตลาดทุน จนเกิดการลามไปสู่การไถ่ถอนตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้บริษัทเอกชน ในกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือดีหรือไม่ได้รับปัญหาทางเศรษฐกิจมากจนบริษัทไม่มีเงินชำระหนี้ และในภาวะที่ทุกคนเทขายสินทรัพย์ต่างๆ จากความกังวลว่าธุรกิจจะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ราคาสินทรัพย์อื่น เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด รถยนต์ นาฬิกาหรูและสินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูงอื่นๆ อาจมีราคาลดลงได้ เกิดผลด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภคผ่านความมั่งคั่ง หรือ wealth effect ที่เมื่อคนรู้สึกว่าตัวเองจนลง ก็จะลดการบริโภคหรืออุปโภคสินค้าตามมา ฉุดให้เศรษฐกิจดำดิ่งจนเกิดการว่างงานสูงและอาจลากยาวจนเศรษฐกิจถดถอยไปได้ราว 1 ปีหรือ 2 ปี ซึ่งภาวะนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นเฟสที่ 4 ที่เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวได้มากกว่า 11% ในปีนี้ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด และอาจเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยเผชิญ อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีทางออกในการยืดเวลาของเฟส 3 และให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปีหน้า ช่วยให้พ้นวิกฤตินี้ไปได้ หรืออาจฟื้นได้เร็ว โดยอาจหดตัวเพียง 2.2% ในกรณีที่ดีที่สุดในปีนี้ ซึ่งอาจจะเจ็บในระยะสั้นแต่จะจบไวและฟื้นเร็ว
สำนักวิจัยฯ มีความเห็น 3 ประการเพื่อยื้อเวลาให้ประคองตัวได้หรืออาจพลิกกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งในครึ่งปีหลังดังนี้
1.นโยบายการเงินต้องผ่อนปรนและคิดนอกกรอบ คนจำนวนมากยังมีภาระหนี้สินอยู่ ซึ่งมาตรการของ ธปท.ในการดูแลให้คนยังมีความสามารถในการชำระหนี้ เช่น ลดยอดการชำระหรือยืดเวลาการชำระหรือให้ชำระเพียงดอกเบี้ยได้ชั่วคราวนับเป็นก้าวที่ดีในการประคองภาคเอกชน แต่อาจต้องพิจารณาว่าปัญหาทางเศรษฐกิจจะไม่ลากยาวและลูกหนี้สามารถฟื้นได้เร็วเมื่อหมดโครงการนี้ ไม่เช่นนั้น ยอดหนี้เสียจะพุ่งได้ในอนาคต และอีกด้านที่น่าสนใจคือการอัดฉีดสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจผ่านการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ หรือ หุ้นกู้เอกชน และอาจเป็นการซื้อตรงหรือผ่านตลาดรองเพื่อลดความผันผวนด้านราคาและเพื่อให้ธุรกิจมีกระแสเงินสดอยู่รอดได้
2.นโยบายการคลังต้องรวดเร็วและทั่วถึง นอกเหนือจากให้เงิน 5,000 บาทต่อคนในช่วง 3 เดือนนี้ หรืออาจคิดมาตรการจ้างงาน หรือเป็นการซื้อหาอาหารหรือสินค้าที่จำเป็นแจกเองผ่านหน่วยงานของรัฐหรือชุมชน นอกจากนี้ รัฐบาลอาจใช้โอกาสนี้ดึงคนกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเข้ามาใช้เงินด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ใช่เพียงเพิ่มลดหย่อน และอาจทำชั่วคราวในปีนี้ รวมถึงอาจเสริมด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ
3.ต้องเรียนรู้ปรับตัว หากไม่มีงานในเมืองก็ต้องสร้างงานในชุมชน หรือสร้างตลาดสินค้าและรายได้ในพื้นที่ต่างๆ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และยืดหยุ่นคล่องตัวพอจะปรับเปลี่ยนงานได้เสมอ อีกทั้งได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการทำงานหรือเรียนหนังสือผ่านโปรแกรมต่างๆ ซึ่งหากเราพัฒนาต่อยอดได้ สิ่งเหล่านี้อาจช่วยลดมลพิษและสร้างงานใหม่ๆ ได้ในอนาคต .-สำนักข่าวไทย