สำนักงานประกันสังคม 30 มี.ค.-สำนักงานประกันสังคม ตอบคำถามพบบ่อย เรื่องเงินสมทบประกันสังคมจากสถานการณ์โควิด-19 ย้ำนายจ้างและผู้ประกันตน 33, 39 ยังไม่ต้องรีบนำส่ง
ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครม. มีมติช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในเรื่องของการลดอัตราเงินสมทบและขยายเวลาส่งเงินสมทบ ซึ่งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พบว่าในการนำส่งเงินสมทบดังกล่าวนั้น สถานประกอบการและผู้ประกันตนยังมีข้อคำถามมากมาย จึงดำเนินการรวบรวม ข้อคำถามที่ พบบ่อยและทำคำตอบ เพื่อเผยแพร่แก่สถานประกอบการ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จะได้คลายข้อสงสัยในการนำส่งเงินสมทบ
มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวกำหนดสาระสำคัญ ดังนี้
ลดอัตราเงินสมทบ
– นายจ้าง เหลืออัตราร้อยละ 4 ระยะเวลา 3 เดือน (มี.ค. – พ.ค.63)
– ผู้ประกันตน มาตรา 33 เหลืออัตราร้อยละ 1 ระยะเวลา 3 เดือน (มี.ค. – พ.ค.63)
– ผู้ประกันตน มาตรา 39 เหลืออัตราร้อยละ 1.8 ระยะเวลา 3 เดือน (มี.ค. – พ.ค.63)
ขยายเวลาส่งเงินสมทบ นายจ้าง และ ผู้ประกันตนมาตรา 33, 39
สำหรับงวดเดือน มีนาคม – พฤษภาคม ออกไปอีก 3 เดือน
– ค่าจ้าง เดือน มีนาคม 2563 ให้นำส่งภายใน 15 กรกฎาคม 2563
-ค่าจ้าง เดือน เมษายน 2563 ให้นำส่งภายใน 15 สิงหาคม 2563
– ค่าจ้าง เดือน พฤษภาคม 2563 ให้นำส่งภายใน 15 กันยายน 2563
ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น สำนักงานประกันสังคมได้รวบรวมข้อคำถามในการชำระเงินสมทบ ที่พบบ่อยพร้อมคำตอบรวมแปดข้อ และขอเรียนว่า สถานประกอบการ ผู้ประกันตนมาตรา 33 39 ยังมีเวลาถึง 3 เดือน ในการนำส่งเงินสมทบ แต่หากยังมีข้อสงสัยขอให้ติดต่อสอบถามที่หน้าเว็บไซต์ www.sso.go.th ผ่านช่องทาง E-mail : info @sso1506.com Webboard (กระดานสนทนา) Live Chat รวมทั้ง Facebook.com/ssofan page สำนักงานประกันสังคมกระทรวงแรงงาน .-สำนักข่าวไทย