ทำเนียบรัฐบาล 24 มี.ค.-สธ.แถลงผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว รวมผู้เสียชีวิตในไทยขณะนี้ 4 ราย ขณะที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 106 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 827 ราย ย้ำเตือนประชาชน รักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1 -2 เมตร งด/ลด การเดินทางโดยไม่จำเป็น ไม่ไปในพื้นที่แออัด
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ขอเริ่มที่ข่าวดีคือวันนี้มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้ 5 รายแต่พบมีผู้ป่วยใหม่เพิ่ม 106 ราย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 25 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวยลุมพินี และราชดำเนิน 5 ราย ,สถานบันเทิง ทั้งที่ทองหล่อ อาร์ซีเอ นานา 6 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 12 ราย และกลุ่มผู้ร่วมพิธีทางศาสนา ที่ประเทศมาเลเซีย 2 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 34 ราย แบ่งเป็น
กลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และชาวต่างชาติ 20 ราย(คนไทย 8 ราย และชาวต่างชาติ 12 ราย
กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 10 ราย
และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 4 ราย มีทั้งหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน จ.ภูเก็ต ยะลา บุรีรัมย์ และนครปฐม
ซึ่งกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงและน่าตกใจ เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาหรือให้วิเคราะห์โรคไม่ยอมบอกข้อมูลที่แท้จริงทั้งหมด ว่าตนเองนั้นอยู่ในกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้จึงป้องกันตัวเองไม่ทัน
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ แต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 47 ราย
และวันนี้ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย รายแรกเป็นชายไทย อายุ 70 ปี (เป็นผู้ป่วยที่มีโรควัณโรคร่วม) รายที่ 2 เป็นชาวไทยอายุ 79 ปี (เป็นเซียนมวยอาการหนักตั้งแต่แรกรับ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 มีโรคประจำตัวหลายโรค) โดย 2 รายแรกรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร เข้ารับการรักษาจนไม่พบเชื้อโควิด แต่เนื่องจากมีอาการป่วยแทรกซ้อน และก้อนหน้านี้เชื้อโควิด-19ได้เข้าไปทำลายปอดเสียหายพอสมควรแล้วและรายที่ 3 เป็นชายไทย อายุ 45 ปี (มีโรคเบาหวาน และภาวะอ้วน) จากโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานคร
สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 4 ราย ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
โดยสรุป มีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 57 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 766 ราย เสียชีวิต 4 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 827 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมีการวิเคราะห์อัตราการแพร่กระจายเชื้อในช่วง 7 วันที่ผ่านมา พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล อัตราการแพร่และส่งต่อเชื้อไปสู่ผู้อื่นมากที่สุด โดย 1คนมีอัตราการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่งต่อไปได้ 3.4 คน รองลงมา คือสงขลา ปัตตานี ยะลา และภูเก็ต 1 คนมีอัตราการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่งต่อไปได้ 2.2 คน ส่วนจังหวัดอื่น 1 คนมีอัตราการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่งต่อไปได้ 1.8 คน
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อมูลสถานที่ชุมนุมชนที่มีประกาศ ให้ผู้เกี่ยวข้องเฝ้าระวังตนเองใน 25 แห่ง ใน 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี, ขอนแก่น, กทม.,สงขลา,นครราชสีมา, นนทบุรี และสุรินทร์ โดยผู้ที่อยู่ในสถานที่ และช่วงเวลาตามประกาศ ขอให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ได้แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด,ผู้ว่าราชการจังหวัด,ผอ.โรงพยาบาล,นายอำเภอ, สาธารณสุขอำเภอ,กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน,อสม. , ผู้นำชุมชน ทันที และให้กักกันตนเองและสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วันอย่างเคร่งครัด หากมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจให้รีบพบแพทย์ทันที สำหรับประชาชนสามารถติดตามข้อมูลประกาศสถานที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ได้ที่ เว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค และเพจ “ไทยรู้ สู้โควิด”
นอกจากนี้ขอย้ำเตือนประชาชน ช่วยกันรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1 -2 เมตร งด/ลด การเดินทางโดยไม่จำเป็นไม่ไปในพื้นที่แออัด แยกสำรับอาหารไม่ใช้ช้อน ถ้วย ชาม แก้วน้ำร่วมกัน หากมีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัยไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง ขอให้ทุกคนร่วมมือกันกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไปในวงกว้าง ลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ให้มีน้อยที่สุด
พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ปัจจุบันพบข้อมูลป่วยโควิด-19 รวม 192 ประเทศ มากขึ้นอย่างชัดเจน ผู้ป่วยรวมกว่า 3.6 แสนราย โดยเฉพาะโซนยุโรป อเมริกาและเสียชีวิตเพิ่ม รวมกว่า 10,000 ราย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 31 อัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากหลักหน่วยเป็นสิบ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมเป็นต้นมา และเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย วันที่22 มีนาคม เป็นต้นมา โดยประเทศที่ยังคงต้องเฝ้าระวังและคัดกรองเข้ามายังประเทศไทยยังคงเป็น 4ประเทศ คือจีน อิตาลี อิหร่าน เกาหลีใต้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีการคัดกรอง ตั้งแต่ที่สนามบิน ก่อนเข้าประเทศ รวมทั้งตามชายแดน มีการคัดกรองทุกด่าน ตั้งแต่ 3 ม.ค.เป็นต้นมา
สำหรับลักษณะของผู้ป่วยในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย โดยอัตรา เป็นชายต่อหญิง คือ 2 ต่อ 1 กลุ่มอายุผู้ป่วยส่วนใหญ่ คือ 30-39 ปี รองลงมาคือ 20-29 ปี มากกว่าผู้สูงอายุ การกระจายโรคขณะนี้กระจายไป47 จังหวัดแล้ว พบเป็นเคสสนามมวยเดินทางไปต่างจังหวัด กทม.ยังคงเป็นอันดับ1 จำนวน 349 ราย จ.นนทบุรี 47 ราย อัตราการแพร่เชื้อใน7 วัน คนที่อยู่ กทม.ผู้ป่วยสามาถแพร่เชื้อได้ 1 ต่อ 3.4 คน ส่วนสงขลา ปัตตานีอัตราแพร่เชื้อ 1 ต่อ 2.2 คน และจังหวัดอื่นๆ1ต่อ 1.8 คน พร้อมขอให้ประชาชนทำตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม Social distancing เพื่อลดโรค ซึ่งมาตรการปิดสถานที่เสี่ยง และการเสนอให้อยู่บ้านเป็นหลักและอยู่บ้าน ลดการเดินทาง จะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยลดลง กว่าครึ่ง
พญ.วลัยรัตน์ กล่าวว่า ชายวัย 79 ปี เซียนมวยที่เสียชีวิตเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์หรือไม่นั้น บอกไม่ได้ แต่ตอนนี้ได้แจ้งผู้ที่ไปสนามมวย หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ต้องเข้ารับรักษา ไม่ถึงกับเรียกให้มารายงานตัว รวมถึงผู้ที่ไปในสถานที่ที่พบผู้ป่วย ก็ต้องเฝ้าระวังอาการ 14 วันเช่นกัน หากมาตรวจในช่วงแรกอาจไม่เจอเชื้อ แต่ให้เฝ้าระวังอาการก่อน ตอนนี้พยายามสืบหาต้นตอผู้ป่วยคนแรก โดยการสอบสวนโรคจากผู้ป่วย แต่การบอกว่าใครคือผู้ป่วยคนแรกคงหายาก .-สำนักข่าวไทย