ยธ.11 มี.ค.-รมว.ยุติธรรม สั่ง ป.ป.ส.ศึกษาเพิ่ม 3 ประเด็น เน้นมาตรการป้องกันไม่ให้เด็ก-เยาวชนเกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความเห็นเพิ่มเติม ปลดล็อกพืชกระท่อมจากบัญชียาเสพติด ย้ำระหว่างนี้ พืชกระท่อมยังผิดกฎหมายเสพ-ขายติดคุก
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการปลดล็อกพืชกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติด หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้พืชกระท่อมพ้นจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ว่า มติ ครม.วานนี้ (10มี.ค) ได้อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับ….เท่านั้น ขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความเห็นเพิ่มเติมใน 3 ประเด็นหลักที่รับฟังความเห็นจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ คือ
1.มาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องว่าจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างไร อาจมีการจำกัดอายุเยาวชน โดยอาจเปรียบเทียบกับสินค้าประเภทเหล้าและบุหรี่เพื่อนำมาออกระเบียบในการควบคุม ซึ่งประเด็นนี้ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทาง ระเบียบปฎิบัติให้ชัดเจน
2.การใช้ประโยชน์พืชกระท่อมในการทำผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริม แปรรูป จะต้องขออนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.)ตามกฎหมายได้ระบุไว้ชัดเจนว่านำไปใช้เพื่อการใด และ 3.ข้อกังวลในเรื่องผลกระทบ ต่อผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะ อย่างไรก็ตามที่ผ่านคดีความผิดที่เกี่ยวกับการเสพกระท่อมจะเห็นได้ว่า ผู้เสพไม่เคยมีปัญหาก่อเหตุทะเลาะวิวาทหรือรุนแรง มีแต่ขยันทำงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ระหว่างที่รอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาความเห็นเพิ่มเติม ขอชี้แจงว่าพืชกระท่อมยังเป็นยาเสพติดประเภท5 ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้ การเสพและการจำหน่ายยังมีความผิดตามกฎหมาย จนกว่าร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม จะถูกเสนอกลับไปให้สภาฯพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งยังไม่สามารถระบุระยะเวลาได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด แต่ถ้าเสร็จเร็วก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้ปลูกพืชกระท่อมให้เป็นอุตสาหกรรมส่งออกเดือนละ 2,000-3,000 ตัน ดังนั้นดำเนินการล่าช้าออกไปจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศ
“ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้มีการนำพืชกระท่อม นำมาเคี้ยว ชงชา ดื่มในกลุ่มชาวไร่ ชาวสวน และผู้ใช้แรงงาน และถ้าเรายังควบคุมให้พืชกระท่อม เป็นยาเสพติดก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมทางเศรษฐกิจดูจากต่างประเทศ มีเพียงเวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดียเท่านั้นที่ควบคุมพืชกระท่อมเป็นยาเสพติด “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว.-สำนักข่าวไทย