กรุงเทพฯ 2 มี.ค. – ภัยแล้งหนุนราคาน้ำตาลตลาดโลกเพิ่มต่อเนื่อง ล่าสุดราคาอยู่ที่ 14-15 เซนต์/ปอนด์ ผลผลิตอ้อยรวมลดลงเหลือ 75-80 ล้านตันอ้อยจากปีก่อนหน้าผลิตได้ถึง 133 ล้านตันอ้อย ส่วนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลกระทบน้อยมาก
นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายครบวงจร เปิดเผยว่า จากปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ปีนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี และประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อื่นก็เผชิญปัญหาทิศทางเดียวกัน เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย ทำให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 14-15 เซนต์/ปอนด์
สำหรับประเทศไทย ภัยแล้งส่งผลให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลปี 2563 เผชิญกับความเสี่ยง เนื่องจากผลผลิตอ้อยและปริมาณอ้อยส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลลดลงอย่างต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงเดียวกันฤดูการผลิตปี 2562/2563 อ้อยเข้าหีบลดลงกว่า 40% โดยประเมินว่ายอดอ้อยส่งเข้าหีบโรงงานน้ำตาลภาพรวมทั้งประเทศจะลดลงเหลือประมาณ 75-80 ล้านตันอ้อย จากปีก่อนหน้ามียอดผลิตรวม 133 ล้านตันอ้อย จึงประเมินว่ายอดผลิตน้ำตาลปีนี้จะลดลงเหลือประมาณ 8.5 ล้านตัน จากปีก่อนหน้าไทยผลิตได้ 14.5 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นน้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศ 2.5 ล้านตัน ดังนั้น การส่งออกน้ำตาลของไทยปีนี้จะมียอดส่งออกประมาณ 5 ล้านตันเท่านั้น ตลาดส่งออก 3 อันดับแรกของไทย คือ อินโดนีเซีย จีน และเกาหลีใต้ ตามลำดับ
ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แทบจะไม่เห็นผลกระทบต่อยอดขายน้ำตาลตลาดโลก แต่ระยะสั้นจะมีการกักตุนสินค้าเพื่อการบริโภคต่าง ๆ มากขึ้น ชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น และผู้ใช้น้ำตาลปริมาณมาก คือ กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่ผู้บริโภคโดยตรง แต่สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงกว่ามาก ทำให้ราคาน้ำตาลยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น
สำหรับ KBS มีอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 2562/2563 รวม 1.7 ล้านตันอ้อย ลดลงจากฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 ที่รับอ้อยเข้าหีบรวม 3.3 ล้านตันอ้อย บริษัทฯ จึงเตรียมแผนรับมือปัจจัยลบดังกล่าว โดยเน้นบริหารพื้นที่เพาะปลูก เพื่อรักษาปริมาณและคุณภาพผลผลิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพหีบสกัดให้ได้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) จากการใช้เทคโนโลยีต่อยอดสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมตั้งแต่น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายสีรำ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์และน้ำตาลทรายขาวผสมซูคราโลส (Sucralose) เพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตรายย่อยและผู้บริโภคทั่วไปทั้งในประเทศและตลาดส่งออกในทวีปเอเชีย และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น
นายรัฐวุฒิ แซ่ตั้ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาด KBS กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งฝนทิ้งช่วงนาน บริษัทฯ ได้ปรับแผนการส่งเสริมเพาะปลูกอ้อยแก่ชาวไร่คู่สัญญาในฤดูกาลใหม่ โดยเลื่อนระยะเวลาเพาะปลูกจากเดิมช่วงปลายปีที่ผ่านมา (อ้อยข้ามแล้ง) เป็นเดือนเมษายนนี้ (อ้อยต้นฝน) ด้านการผลิตบริษัทฯ มีเทคโนโลยีคอนดิชันนิ่งไซโลน้ำตาลช่วยลดการจับตัวเป็นก้อน ทำให้ KBS สามารถผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ที่มีราคาจำหน่ายต่อหน่วยสูงกว่าช่วยสร้างแบรนด์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น และน้ำตาลทรายที่ผลิตได้จะมีขนาดบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในกลุ่มต่าง ๆ ประกอบด้วย ขนาดบรรจุ 500 กรัม, 1 กิโลกรัม, 25กิโลกรัม, 50 กิโลกรัม, 1 ตัน, 25 ตัน (flexi bag) และ 30 ตัน (tank car)
นายรักกิติ ตั้งล้ำเลิศ ผู้อำนวยการ การเงิน KBS กล่าวว่า KBS มุ่งเน้นการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพในทุกด้านและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาสร้างรายได้เชิงธุรกิจ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ดำเนินการโดย KPP หรือบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด ที่ KBS ถือหุ้นอยู่ 99.99% มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 73 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 22 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 16 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในปี 2562 ทำรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานภาครัฐ 728 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 119.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 608 ล้านบาท จากปริมาณจำนวนหน่วยในการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันบริษัทฯ มีแผนจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี (KBSPIF) ไม่เกิน 2,800 ล้านบาท เพื่อระดมเงินไปลงทุนในโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา รวมถึงโครงการอื่นที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่ม KBS ซึ่งกองทุนฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.).-สำนักข่าวไทย