โตเกียว 17 ก.พ.- ทางการญี่ปุ่นเผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP) ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนว่า หดตัวรายไตรมาสมากที่สุดในรอบกว่า 5 ปี เป็นผลจากการขึ้นภาษีบริโภคและไต้ฝุ่นฮากีบิสถล่ม
จีดีพีญี่ปุ่นไตรมาสเดือนตุลาคม-ธันวาคมปีก่อนหดตัวร้อยละ 1.6 จากไตรมาสเดือนกรกฎาคม-กันยายน เป็นผลจากการขึ้นภาษีบริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม และไต้ฝุ่นฮากีบิสถล่มช่วงกลางเดือนตุลาคม สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 1 และมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 1.9 เพราะขึ้นภาษีบริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 นักวิเคราะห์มองว่า ภัยธรรมชาติกระทบบรรยากาศการบริโภคไม่มากเท่ากับการขึ้นภาษีบริโภคแม้รัฐบาลพยายามออกมาตรการเยียวยาแล้วก็ตาม การบริโภคเอกชนลดลงร้อยละ 2.9 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ขณะที่การใช้จ่ายของโรงงานและอุปกรณ์ลดลงร้อยละ 3.7
แวดวงนักเศรษฐศาสตร์กำลังจับตามองว่า การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลกอย่างไร ทั้งภาคการผลิตที่ชิ้นส่วนนำเข้าจากจีนชะงักและภาคการท่องเที่ยวที่ชาวจีนมาเที่ยวลดลง มีความเป็นได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวสองไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งจะทำให้เข้าสู่ภาวะถดถอยในเชิงเทคนิค อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ของซูมิทรัสต์คาดการณ์ก่อนที่ทางการเผยแพร่จีดีพีล่าสุดว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้น่าจะเติบโต เพราะความต้องการในต่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแม้โรคโควิด-19 ระบาด การบริโภคในประเทศจะฟื้นตัวเพราะผลจากการขึ้นภาษีขายเริ่มเบาบางลงแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลเชิงบวกจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน โตเกียว 2020 กลางปีนี้ ขณะที่การท่องเที่ยวครองสัดส่วนจีดีพีญี่ปุ่นเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น.- สำนักข่าวไทย