สมุทรสาคร 6 ก.พ. – “ทนายษิทรา” ได้ประกันตัว วงเงิน 100,000 คดีนำสืบพยานหลักฐานเท็จ หลังเข้ามอบตัวกับตำรวจ สภ.กระทุ่มแบน เมื่อช่วงเช้าวันนี้ และหลังให้ปากคำกับตำรวจ ทนายษิทราได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนถึงการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของรองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนนายหนึ่ง
วันนี้ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจ สภ.กระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ตำรวจใช้เวลาในการสอบปากคำทนายษิทรา นานกว่า 3 ชั่วโมง ในคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดมาตรา 100/2 ข้อหานำสืบพยานหลักฐานเท็จ ภายหลังสอบปากคำเสร็จ ทีมงานทนายษิทรานำเงินสดขอยื่นประกันตัว โดยทางตำรวจได้อนุมัติให้ประกันตัวไปในวงเงิน 100,000 บาท
หลังจากให้ปากคำกับตำรวจแล้ว ทนายษิทราได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนถึงการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของรองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบนนายหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ว่าด้วย ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
สาเหตุมาจากเมื่อวันคืนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 22.00 น. นายษิทราได้เดินทางเข้ามาแสดงตนขอมอบตัวต่อเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.กระทุ่มแบน หลังจากที่ทราบว่าถูกออกหมายจับศาลจังหวัดสมุทรสาคร แต่ปรากฏว่าเมื่อมาถึง สภ.กระทุ่มแบน กลับไม่มีตำรวจคนไหนออกมารับมอบตัว ทั้งๆ ที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนดังกล่าวก็อยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย โดยอ้างเหตุว่า หมายจับศาลจังหวัดสมุทรสาครยังมาไม่ถึง และหมายจับยังไม่เรียบร้อย ต้องแก้ไขเอกสารเพิ่มเติม ทำให้นายษิทราต้องเดินทางกลับบ้านไปก่อน จนกระทั่งในช่วงเช้าปรากฏว่ามีตำรวจชุดสืบสวนฯ นำหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจค้นที่สำนักงานทนายความของนายษิทรา เพื่อควบคุมตัวบุคคลตามหมายจับ ทำให้นายษิทรา และผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ดังนั้นจึงต้องการให้ดำเนินคดีกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับรองผู้กำกับการสอบสวนคนดังกล่าว
นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม บอกว่า ไม่ได้คิดหนีไปไหน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10.38 น. ก็ได้เข้ามาลงบันทึกประจำวันไว้แล้วที่ สภ.กระทุ่มแบน ว่า “ผู้แจ้งถูกแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรกระทุ่มแบน โดยที่ผู้แจ้งมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอกระทุ่มแบน และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หากมีการดำเนินคดีต่อผู้แจ้ง ผู้แจ้งยืนยันว่าจะมาตามหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยสามารถประสานได้ที่เบอร์ 087-6239999 แล้วขอให้สิบเวรรายงานผู้กำกับสถานีเพื่อทราบถึงความประสงค์ของผู้แจ้งด้วย” ต่อมายังได้เดินทางมาแสดงตนเพื่อขอเข้ามอบตัวตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ตำรวจไม่รับมอบและไม่ยอมควบคุมตัว ทั้งๆ ที่มีหน้าที่ในการที่จะต้องรับมอบตัวไว้ ไม่ควรที่จะมีข้ออ้างใดๆ ส่วนนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายนั้นได้เดินหนีไป ตนเชื่อว่ามีการกลั่นแกล้งกัน จนมาในช่วงเช้า มีการนำหมายค้นเข้าตรวจค้นที่สำนักงานของตน ทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงได้แจ้งความกลับแล้วไปพิสูจน์กับทาง ป.ป.ช. ต่อไป
นายนิพนธ์ จันทเวช เลขาธิการสภาทนายความ บอกว่า หากมีทนายความถูกดำเนินคดีอาญา แต่ว่ายังไม่มีผลการตัดสินคดีจากทางศาลถึงที่สุด และศาลอนุญาตให้ประกันตัว ทางทนายความคนดังกล่าวสามารถทำงานต่อได้ ไม่มีผลกระทบต่อคดีที่กำลังดูแลอยู่ ส่วนเรื่องการดูแลทนายของทางสภาทนายความนั้น หากมีการร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรมของทนายที่เข้าข่ายกระทำฝ่าฝืนมรรยาท จะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดว่าการกระทำของทนายความดังกล่าวผิดมรรยาทหรือไม่ ถ้ายังอยู่ระหว่างพิจารณา เรื่องยังไม่แล้วเสร็จ ทางทนายความที่ถูกร้องเรียนยังสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ แต่เมื่อมีผลชี้ขาดมาแล้วว่าทนายคนใดผิดหลักมรรยาท การลงโทษหนักที่สุดคือลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ไม่มีสถานะเป็นทนายความ ห้ามว่าความคดีต่อ หรือรับทำคดีอื่นๆ อีกต่อไป ส่วนคดีที่เคยได้ทำมีผลการตัดสินของศาลถึงที่สุดในอดีต จะไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น
มาตรา 100/2 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ระบุว่า “ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใด ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้”
นักวิชาการด้านกฎหมายให้ข้อมูลกับสำนักข่าวไทย อสมท ว่า กระบวนการทำหลักฐานเท็จ เบิกความเท็จ แล้วใช้ 100/2 มาแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง หรือขบวนการซื้อบันทึกจับกุม หรือในวงการเรียกใบ 100/2 มีมาอย่างต่อเนื่อง อธิบายแบบง่าย ๆ คือ การที่จูงใจให้คนที่โดนจับกุมในคดียาเสพติดซัดทอดไปถึงตัวการค้ายาใหญ่ ๆ โดยบอกว่าถ้าใครโดนจับแล้วมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตำรวจ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือพนักงานสอบสวน (ที่เขาไม่รู้มาก่อน) แล้วทำให้เขาไปจับกุมพ่อค้ายารายใหญ่ได้ คนที่ให้ข้อมูลนั้นจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษจากศาล โดยรับโทษในอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ขั้นต่ำก็ได้
กระบวนการที่แสวงหาผลประโยชน์นี้เริ่มจากการทำบันทึกจับกุมปลอม รวมถึงเบิกความเท็จในศาล เช่น ผู้ต้องหา ก. ถูกตำรวจจับกุมในคดียาเสพติด ต่อมามีทนายของผู้ต้องหากับตำรวจมาติดต่อผู้ต้องหา ก. ว่าอยากได้รับการลดโทษลงไหม ถ้าสนใจให้จ่ายเงินมา เดี๋ยวจะไปซื้อใบ 100/2 มาให้ เมื่อผู้ต้องหาตกลง ตำรวจกับทนายของผู้ต้องหาจะไปหาดูว่าหลังจากนั้นมีคดีพ่อค้ายารายใหญ่ (ปริมาณยามากกว่าที่ผู้ต้องหาโดนจับ) โดนจับบ้างหรือไม่ ถ้ามี ตำรวจกับทนายผู้ต้องหาก็จะเข้าไปติดต่อชุดที่จับกุมพ่อค้ารายใหญ่ โดยบอกว่าในบันทึกจับกุมนั้นให้เขียนเพิ่มเติมว่า “การที่มาจับกุมพ่อค้ารายใหญ่นี้ ได้ข้อมูลเบาะแสที่เป็นประโยชน์จากผู้ต้องหา ก.”
หลังจากนั้น ทนายผู้ต้องหากับตำรวจจะนำบันทึกการจับกุมดังกล่าวไปเบิกความต่อศาลในคดีของผู้ต้องหา ก. เพื่อขอให้ศาลลดหย่อนผ่อนโทษให้ผู้ต้องหา ก. โดยบอกว่า ผู้ต้องหา ก. ช่วยเหลือทางการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จนนำไปสู่การจับกุมพ่อค้ายาเสพติดได้ หากศาลเชื่อตามที่ตำรวจและทนายความผู้ต้องหาเบิกความ ก็จะได้ลดหย่อนผ่อนโทษลงให้ผู้ต้องหา ก. โดยอาศัยอำนาจตาม ม.100/2 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติด นั่นเอง.- สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
► “ทนายตั้ม” มอบตัวตามหมายจับศาลสมุทรสาคร