กรุงเทพฯ 31 ม.ค. – สมาคมตลาดตราสารหนี้มั่นใจไทยยังไม่เผชิญภาวะ inverted yield curve เชื่อไวรัสโคโรนาคุมได้
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ (ThaiBMA) กล่าวถึงกรณีวันนี้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว ว่า ภาวะดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ถึงความกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมายังไม่เห็นถึงภาวะดังกล่าวอย่างเด่นชัด แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะเวลา 10 ปี จะลดลงมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมมาอยู่ที่ 1.3% จากเดิมอยู่ที่ 1.5% แต่ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.25% ซึ่งย้ำว่าการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในบ้านเราลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนักลงทุนสถาบันไทยและกลุ่มธนาคารพาณิชย์เข้ามาซื้อพันธบัตรดังกล่าวจำนวนมาก
ส่วนสาเหตุที่นักลงทุนกลุ่มนี้เข้าซื้อพันธบัตรจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าในกลุ่มกองทุนและกลุ่มประกันจำนวนมากในช่วงปลายปี ทำให้มีการพักเงินในตลาดพันธบัตร ประกอบกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยยังคงต้องติดตามว่าจะเป็นเพียงความผันผวนชั่วคราวหรือไม่ และยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดภาวะ inverted yield curve ในไทยหรือไม่
สำหรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนา คงไม่มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญที่จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นไทย แต่ยอมรับว่าคงจะส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจบ้าง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะยังไม่มีการปรับขึ้นระยะสั้นนี้ อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ต่อไปอีกสักระยะ อย่างไรก็ตาม มองว่าระดับความรุนแรงของไวรัสโคโรนาทางการแพทย์ยังน้อยกว่าโรคซาร์สและเมอร์ส และไม่น่ากังวลมากนัก แต่ยอมรับว่ากังวลจะกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากกว่า เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
พร้อมแนะนำนักลงทุนลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตลาดพันธบัตร เพราะตลาดหุ้นค่อนข้างผันผวน สินทรัพย์ปลอดภัยอาจจะเป็นแหล่งให้ความมั่นใจกับนักลงทุนในช่วงนี้ ย้ำว่าเศรษฐกิจชะลอตัวนักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นด้วย
นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน เช่น Green Bond และ Sustainability Bond มีมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก โดยสหรัฐมีการออก Green Bond มากที่สุด หากรวมทั้งภูมิภาคยุโรปมีการออกมากที่สุด ซึ่งตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และช่วยให้กิจการใส่ใจเรื่องดังกล่าวเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน
สำหรับไทย Green Bond กำลังได้รับความสนใจจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ อย่างมาก พร้อมมองว่าการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน สามารถตอบโจทย์โครงการระยะยาวได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถกำหนดต้นทุนดอกเบี้ยระยะยาวช่วยให้กิจการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เติบโตดียิ่งขึ้น . – สำนักข่าวไทย