กกต. 24 ม.ค.-“ณฐพร” ยื่นเพิ่มเติม จี้ กกต.เร่งพิจารณาเสนอยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 อ้างคำวินิจฉัยศาล รธน. ระบุที่ศาลยกคำร้องก่อนหน้านี้เป็นการพิจารณาตามมาตรา 49 เรื่องข้อบังคับพรรค ไม่ใช่เรื่องปฏิปักษ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.30 น. วันนี้ (24 ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายณฐพร โตรประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน และเป็นผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้มายื่นหนังสือเพิ่มเติมต่อ กกต. หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยกคำร้องในมาตรา 49 แต่ในมาตรา 92 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง
โดยนายณฐพร กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาล ตอนหนึ่งระบุว่า หากมีการกระทำอันเป็นความผิดในกฎหมายอื่น ก็ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่ต้องไปพิจารณาดำเนินการ ซึ่งความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) ตนไม่มีอำนาจยื่นร้อง เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ตนจึงจำเป็นต้องมายื่นร้องพร้อมหลักฐานมาส่งมอบให้ กกต.ได้พิจารณาดำเนินการในความผิดฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ทั้งนี้ในคดีดังกล่าวเคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลไว้แล้วในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ในมาตรา 92 (2)
“แค่มีแนวคิด ก็ถือว่าเป็นปฏิปักษ์แล้ว ซึ่งข้อความและถ้อยคำทั้งหมดที่ผมนำมายื่นร้อง ไม่ได้เกิดจากการตกแต่ง แต่เกิดจากการกระทำของคณะกรรมกรรมบริหารของพรรคอนาคตใหม่ ผมต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าคำร้องของผมไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ยกตัวอย่างกรณีข้อบังคับพรรค ถ้าผมไม่ยื่นร้อง ทุกอย่างก็จะเงียบไป ทำอะไรไม่ได้ กรณีร้องยุบพรรคก็เช่นเดียวกัน ผมจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้สิ้นสุด ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กับกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 (2) นั้นต่างกัน ซึ่งมาตรา 49 เป็นเรื่องของการล้มล้างการปกครอง แต่มาตรา 92 (2) เป็นเรื่องของการเป็น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ กกต.จะต้องดำเนินการ วันนี้ผมถือว่าทำหน้าที่สมบูรณ์ในฐานะพลเมืองแล้ว” นายณฐพร กล่าว
นายณฐพร กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจากที่ตนมายื่นร้องในเรื่องดังกล่าวไว้ กกต. ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา และได้เรียกตนมาให้ข้อมูลแล้ว ในวันนี้เอกสารที่ได้มายื่นเพิ่มเติมเป็นการบรรยายถึงพยานหลักฐานทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับข้อกฎหมายว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองอย่างไร ถ้าได้อ่านก็จะเข้าใจ เช่น คำว่า 2475 มีที่มาที่ไปอย่างไร การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รูปแบบเป็นอย่างไร การจะสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีความหมายอย่างไร ซึ่งข้อความทั้งหมด ตนไม่ได้ตกแต่งขึ้น แต่เกิดจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4
เมื่อถามว่า การยื่นร้องที่ไม่สิ้นสุด อาจถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ให้ได้หรือไม่ นายณฐพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา การยื่นร้องเรื่องล้มล้างการปกครอง ถ้ามีความผิด ศาลก็แค่สั่งยุติการกระทำ แต่ความผิดฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองโทษถึงถูกยุบพรรค โดยที่ผ่านมาศาลยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และคำวินิจัยตอนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่าหากมีการกระทำความผิดอื่นใด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป ตนยังยืนยันว่าไม่ได้โกรธเคือง หรือคิดล้มล้างเขา ในทางตรงกันข้าม ตนก็ถูกโจมตีว่ามายื่นร้องเพื่อฟอกขาวให้พรรคอนาคตใหม่ ตนจึงต้องมาทำหน้าที่ครบถ้วน หลังจากวันนี้ ถือว่าจบหน้าที่แล้ว แค่ศาลวินิจฉัยให้แก้ข้อบังคับพรรคเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก ตนก็พอใจแล้ว
สำหรับมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุว่า คณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น การกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.-สำนักข่าวไทย