กรมอนามัย17 ม.ค.-กรมอนามัย แนะช่วงเทศกาลตรุษจีนใช้ธูปขนาดเล็ก- ลดปริมาณเผากระดาษเงินกระดาษทอง-สิ่งประดิษฐ์ต่างๆให้น้อยลง หลังผลสำรวจอนามัยโพลตรุษจีนปีที่ผ่านมา พบการใช้ธูปสั้นเพียงร้อยละ 33 เผากระดาษเงินกระดาษทองถึงร้อยละ 98 ขอความร่วมมือประชาชนลดปริมาณการใช้และเผา เพื่อลดการเพิ่มฝุ่นในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีน คนไทยเชื้อสายจีน นิยมจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง และเผาสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เพื่อบูชาเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ ซึ่งการจุดธูปและการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ในแต่ละครั้งจะปล่อยสารมลพิษออกมาคือ ควันและขี้เถ้า ซึ่งสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอน มอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และสารก่อมะเร็งหลายชนิด เช่น สารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอนหรือสารพีเอเอช และสารอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น เบนซิน (Benzene) และ 1,3-บิวทาไดอีน (1,3-butadiene) ส่วนขี้เถ้า จะมีสารโลหะหนัก 4 ชนิด ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส และพบโลหะหนักเหล่านี้อยู่ในขี้เถ้ามากกว่าฝุ่นละอองในอากาศประมาณ 3-60 เท่า ซึ่งหากได้สัมผัส อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้
ขณะที่จากการสำรวจอนามัยโพลเรื่องพฤติกรรมการใช้ธูป กระดาษเงินกระดาษทอง กับเทศกาลตรุษจีนในช่วงเดือนมกราคม 2562 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,657 คน พบว่า ในวันไหว้ตรุษจีน ประชาชนมีการจุดธูปร้อยละ 79 เผากระดาษเงินกระดาษทอง ร้อยละ 51 และเผาสิ่งประดิษฐ์จากกระดาษต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ บ้าน รถ ร้อยละ 19 และพบว่าประชาชนบางส่วนยังมีพฤติกรรมการใช้ธูปและเผาที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้ธูปขนาดสั้นเพียงร้อยละ 33 มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ถึงร้อยละ 98 โดยส่วนใหญ่เป็นการเผาจนหมดแล้วดับ ในส่วนของสุขภาพ ประชาชนเห็นด้วยว่าควันธูปและมลพิษจากการเผากระดาษเงินกระดาษทองมีอันตรายต่อสุขภาพถึงร้อยละ 87 เมื่อสอบถามถึงผลกระทบต่อสุขภาพและพบว่าประชาชนมีอาการถึงร้อยละ 97 โดยเฉพาะอาการแสบตา แสบจมูก คัดจมูก หายใจลำบาก คันตา และปวดตา และยังไม่ได้มีการป้องกันถึงร้อยละ 54
“ช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้อาจจะตรงกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ การจุดธูปรวมทั้งการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ในปริมาณที่มากอาจทำให้เกิดควันที่มีสารก่อมลพิษต่าง ๆ มากมาย ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับสาร โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลพิเศษ คือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจและผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป การป้องกันที่ดี คือลดปริมาณการใช้ โดยใช้ธูปขนาดสั้น ลดปริมาณการ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง ให้น้อยลง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นขณะจุดธูปหรือเผา เมื่อจุดแล้วดับหรือเก็บธูป ให้เร็วขึ้น ควรจุดนอกบ้านหรือที่อากาศถ่ายเท และยืนอยู่เหนือทิศทางลม ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสธูปและกระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมหลีกเลี่ยงการพักผ่อนหรือนอนหลับบริเวณที่มีการจุดธูป เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองจากควันธูปที่อาจตกค้างได้ รวมทั้งกำจัดขี้เถ้าจากธูปและกระดาษเงิน กระดาษทอง โดยเก็บขี้เถ้า ใส่ถุง และส่งให้ท้องถิ่นรับไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย