ห่วงจุดความร้อน-หมอกควันข้ามแดน กระทบคุณภาพอากาศช่วงสงกรานต์

กรุงเทพฯ 14 เม.ย.- “พัชรวาท” สั่งปลัด ทส. ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือในช่วงสงกรานต์ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ย้ำกรมควบคุมมลพิษหาสาเหตุของจุดความร้อน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์หมอกควันข้ามแดน


พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และการดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) โดย พล.ต.อ. พัชราวาทห่วงใยคุณภาพอากาศภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้ สั่งการให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินทางไปภาคเหนือเพื่อติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงสงกรานต์ โดยวันนี้ได้ประชุมผ่าน ZOOM ร่วมกับนายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่


นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองในวันนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่าดีขึ้น จำนวนจุดความร้อนและพื้นที่เผาไหม้ลดลง แต่มีข้อกังวลเรื่องหมอกควันข้ามแดน โดยทั้ง 2 จังหวัดได้ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเข้มข้น โดยยกระดับการปฏิบัติการในระดับที่ 2 ตามมาตรการฉุกเฉิน ที่คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนเห็นชอบ ได้แก่ การประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย อัคคีภัย ไฟป่า การบูรณาการอากาศยาน งบประมาณ บุคลากร จากกระทรวง จังหวัด ท้องถิ่น ในการป้องกันไฟป่า ประกาศ Work from Home เข้มงวดตรวจวัดควันดำ ตรวจเข้มโรงงานอุตสาหกรรม จัดทีมแพทย์ดูแลกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง แจกจ่ายหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งจัดทำห้องปลอดฝุ่นและพื้นที่ Safe Zone

แต่การคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในระยะ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 15 – 21 เมษายน 2567 พบว่า 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นวันที่ 15 -18 เมษายน 2567 และยังคงต้องเฝ้าระวังในบางพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นวันที่ 15 – 21 เมษายน 2567 และยังคงต้องเฝ้าระวังในบางพื้นที่ ส่วนพื้นที่ กทม. และปริมณฑล มีแนวโน้มลดลงวันที่ 15 -18 เมษายน 2567 และยังคงต้องเฝ้าระวังในบางพื้นที่ ขณะที่ภาคตะวันออกดีอย่างต่อเนื่อง

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า แม้จำนวนจุดความร้อนใน 17 จังหวัดภาคเหนือลดลง แต่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมาย จึงขอให้จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของจุดความร้อนที่ยังคงมีอยู่และเร่งแก้ไขปัญหา ตลอดจนขอให้ทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสองจังหวัด ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเต็มกำลังต่อไป และได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่


ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามแดนนั้น ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้หารือกับผู้แทนประเทศกัมพูชา เพื่อประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนของทุกปี โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องการประสานงานกับกัมพูชาอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ด้วยตระหนักถึงการดูแลและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งสองประเทศ

ในการหารือได้ตกลงที่จะประสานงานผ่าน Hotline ระหว่างสองประเทศ เป็น 2 ระดับได้แก่ ระดับกระทรวงและระดับกรม รวมถึงการเข้าร่วมแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใสของกัมพูชา และการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมด้านอื่นเพิ่มเติมระหว่างไทย – กัมพูชา นอกจากนี้ยังกำหนดการจัดฝึกอบรมเรื่องการจัดการคุณภาพอากาศให้แก่เจ้าหน้าที่กัมพูชาในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ประเทศไทย โดยจะจัดการประชุมคณะทำงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในคราวเดียวกัน

สำหรับความร่วมมือกับกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในการลดจุดความร้อนและหมอกควันข้ามแดนนั้น เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้เป็นประธานการประชุมโครงการความร่วมมือเพื่อลดจุดความร้อนและหมอกควันข้ามแดน ระหว่างไทย-ลาว (Kick off Workshop Thai-Lao PDR Cooperation: Hotspot and Transboundary Haze Pollution Reduction) ณ นครหลวงเวียงจันทน์

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มาถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ กระทรวงต่างประเทศ รวมทั้งเจ้าเมืองและเจ้าหน้าที่เมืองห้วยทราย ต้นผึ้ง และปากทา แขวงบ่อแก้ว และไชยบุรี สปป ลาว จำนวนมากกว่า 70 คน ในการจัดทำมาตรการและนโยบายการแก้ไขปัญหาแบบกำหนดเป้าหมาย มุ่งเป้าให้เกิดผลในพื้นที่ที่มีการเผาไหม้ซ้ำซากทั้งในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และมลพิษอากาศที่เกิดจากกิจกรรมในพื้นที่เมือง รวมถึงการเน้นเรื่องการสื่อสารสาธารณะ ที่ต้องทันสมัย ต่อเนื่อง รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยหวังให้ความร่วมมือระหว่างกัน จะเป็นการป้องกันสาเหตุการเผาในที่โล่งจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากต้นน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดหมอกควันข้ามแดน และลดปัญหาฝุ่นละอองทั้งในประเทศไทยและ สปป ลาว อย่างยั่งยืน

ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนในช่วงบ่ายวันนี้ สูงถึง 161 สหรัฐ AQI สารมลพิษหลักคือ ฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีความเข้มข้น 14.9 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลก

ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงบ่ายวันนี้ สูงถึง 158 สหรัฐ AQI สารมลพิษหลักคือ ฝุ่น PM2.5 ซึ่งมีความเข้มข้น 13.7 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลก

เว็บไซต์ iqair.com จัดอันดับเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุด โดยในเวลา 14.47 น. วันนี้ จังหวัดเชียงใหม่เป็นอันดับ 3 ของเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุด รองจากอันดับ 1 เมืองเดลีของอินเดียและอันดับ 2 เมืองธากาของบังกลาเทศ.- 512 – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สามีเข้าเกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาดับ

สลด! สามีขับรถใส่เกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาเสียชีวิตในบ้านพักย่านวิภาวดี ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การเบื้องต้น นำตัวสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

คุมฝากขัง “เอ็ม เอกชาติ” เจ้าตัวปิดปากเงียบ

ตร.ไซเบอร์คุมตัว “เอ็ม เอกชาติ” ฝากขัง เจ้าตัวปิดปากเงียบ ไม่ตอบคำถามสื่อ ด้านตำรวจพบเส้นทางการเงินจากเว็บพนัน กว่า 30 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

บกปภ.ช. รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหว เสียหาย 18 จังหวัด

บกปภ.ช. รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหว เสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 18 จังหวัด เฉพาะกรุงเทพฯ เสียชีวิต 9 ราย สูญหาย 79 ราย ยังคงเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตจากอาคารถล่ม ขณะที่กรมบัญชีกลางขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 200 ล้านบาท

ยังไม่หมดหวัง กทม. เดินหน้าเต็มที่กู้ชีพตึกถล่ม

ยังไม่หมดหวัง กทม. เดินหน้าเต็มที่กู้ชีพตึกถล่มจตุจักร เข้าสู่ 48 ชม. นานาชาติร่วมส่งเครื่องมือช่วยเหลือ พร้อมเร่งจัดการจราจรให้ทันวันพรุ่งนี้

หุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot สแกนตึกถล่มหนุนภารกิจกู้ภัย

มจพ. นำหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot เข้าพื้นที่สแกนตรวจสอบโครงสร้างตึกถล่ม ประเมินความปลอดภัย ก่อนให้กู้ภัยเข้าช่วยเหลือผู้รอดชีวิต ด้านครอบครัวยังเฝ้ารออย่างมีความหวัง