นนทบุรี 9 ม.ค. – “สมคิด” รองนายกรัฐมนตรี เยือน กฟผ.สั่งให้ร่วมกับกระทรวงพลังงานดูแลค่าไฟฟ้า และเร่งรัดงบลงทุนหลังงบปี 63 ยังไม่ผ่านสภาฯ ด้าน “สนธิรัตน์” รับลูกทำแผนลดค่าไฟฟ้าเป็นพิเศษแก่เอสเอ็มอี-ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปลื้มราคาปาล์มพุ่ง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางตรวจเยี่ยมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เน้นย้ำให้พัฒนานวัตกรรมรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ร่วมลงทุนกับพันธมิตรในนวัตกรรม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี ) และอื่น ๆ พร้อมทั้งให้เร่งลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงเงินบาทแข็งค่า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง และยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือลงทุนของภาครัฐหลังร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ดำเนินการล่าช้าและยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ กฟผ.ขยายการลงทุนในเมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชน ทาง กฟผ.จะร่วมลงทุนโดยมอบหมายให้พิจารณาว่าจะร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ในการส่งเสริมชาวบ้านให้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้อย่างไร
“เรื่องความมั่นคงพลังงานกรณีความขัดแย้งในตะวันออกกลางพบว่า กระทรวงพลังงาน กฟผ.มีมาตรการรองรับเพียงพอ แต่อยากให้ดูแลเรื่องค่าไฟฟ้าผู้มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอี ทำอย่างไรไม่ให้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ส่วนจะตรึงค่าไฟฟ้าทั้งปีหรือไม่ ก็มอบให้กระทรวงพลังงานพิจารณา” นายสมคิด กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ในช่วงต่อไปนี้จะพิจารณาว่าจะหาทางทำอย่างไรให้ลดค่าไฟฟ้าเป็นพิเศษแก่ผู้มีรายได้น้อยสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า จะนำเงินส่วนไหนมาดูแล
รมว.พลังงงาน ระบุด้วยว่า กฟผ.เป็นหนึ่งในส่วนช่วยแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำก่อนหน้านี้ด้วยการจัดซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) มาผลิตไฟฟ้า ประกอบกับนโยบายไบโอดีเซลบี 10 ที่ทุกปั๊มจะต้องจำหน่ายทุกปั๊มวันที่ 1 มีนาคมนี้ ทำให้ราคาปาล์มขยับสูงขึ้น ซึ่งรู้สึกดีใจที่เห็นแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มดิบ น่าจะถึง 40 บาท/กก.ภายในไม่กี่วัน ส่วนผลทลายปาล์มขณะนี้อยู่ที่ 7.3 บาท/ กก. และมีแนวโน้มที่จะถึง 8 บาท/กก. ทั้งนี้ จะลงพื้นที่จังหวัดกระบี่วันที่ 20 มกราคมนี้ เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ปาล์มทั้งหมด และเพื่อให้ปาล์มในตลาดไม่ตึงตัว จึงสั่งการให้ กฟผ.ชะลอการส่งมอบซีพีโอกว่า 60,000 ตันที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าออกไปก่อน โดยจะส่งมอบได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
สำหรับสตอกซีพีโอ ล่าสุดลดเหลือประมาณ 300,000 ตัน ซึ่งภาพรวมของสตอกและการพิจารณาบริหารการนำเข้า-ส่งออกเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์โดยการดูดซับซีพีโอ เพื่อผลิตบี10 นั้น จะใช้ซีพีโอประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี หรือ 7 ล้านลิตร/วัน
ส่วนการเร่งรัด กฟผ.และ บมจ.ปตท.ในการใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า ด้วยการเร่งลงทุนและคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นนั้น ในวันนี้จะมีการประชุมร่วมกับทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อร่วมดูรายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรม
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า งบปี 2563 กฟผ.มีงบลงทุน 36,000 ล้านบาท ได้ประมูลโครงการไปแล้ว คงเร่งรัดไม่ได้ แต่ กฟผ.จะพิจารณาถึงงบปี 2564 ที่มีวงเงินลงทุน 40,000 ล้านบาทลงทุนสายส่งโรงไฟฟ้าบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้จะเร่งรัดจัดซื้อได้อย่างไรในช่วงบาทแข็งค่า ส่วนการลงทุนใน 8 โรงไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี 2018 ) วงเงิน 300,000 ล้านบาทที่จะเสนอ ครม.เร็ว ๆ นี้ จะเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยโรงไฟฟ้าจะทยอยเข้าระบบปี 2568-2572
นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการส่งมอบซีพีโอ หลังประมูลราคาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 ว่า การประมูลดังกล่าวอยู่ที่ราคา 17.50 บาท/กก. สูงกว่าราคาตลาดทั่วไป 1 บาท/กก. โดยประมูลได้ 101,700 ตัน ให้ทยอยส่งมอบเข้าคลังน้ำมันปาล์มดิบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นไป เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และให้ส่งมอบทั้งหมดภายในเดือนเมษายน 2563 อย่างไรก็ตาม หลังจากประมูลไปแล้ว พบว่าราคาซีพีโอขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วปลายเดือนธันวาคมสูงกว่า 30 บาท/กก. ดังนั้น กฟผ.จึงให้ส่งมอบเดือนธันวาคมเพียงกว่า 30,000 ตัน และส่วนที่เหลือให้ส่งมอบรอบใหม่เดือนเมษายน 2563.-สำนักข่าวไทย