กรุงเทพฯ 8 ม.ค. – ก.พลังงานปรับแผนพีดีพี 2018 เร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 2 โรงเข้าระบบเร็วขึ้น 2 ปี ภายในปี 2568 เปิดช่อง กฟผ.นำเข้าก๊าซเอง ด้านสัญญาก๊าซหลัก ปตท. ลงนาม 10 ปี ปริมาณเฉลี่ย 3.5 ล้านตัน/ปี
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในส่วนของการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว 2018 (2561-2580) เบื้องต้นจะมีการปรับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีจากเดิม 1,400 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จำนวน 2 โรง ๆ ละ 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2570 และ 2572 ให้เป็นเข้าระบบปี 2568 เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภาคใต้ หลังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ชะลอการก่อสร้าง ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการสรรหาก๊าซมาป้อนให้โรงไฟฟ้านั้น สั่งให้ กฟผ.ทำแผนมาให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการรูปแบบไหน โดยก่อนหน้านี้ กฟผ.เคยศึกษาเรื่องการนำเข้าแบบคลังลอยน้ำ หรือ FSRU
ส่วนก๊าซสัญญาหลักระยะยาวเพื่อความมั่นคง ( GLOBAL DCQ) ที่ กฟผ.จะทำสัญญาซื้อจาก ปตท. นั้น คณะกรรมการ กฟผ.เห็นชอบให้ทำสัญญาจัดซื้อเฉลี่ย 3.5 ล้านตัน/ปี หรือประมาณ 490 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เป็นระยะเวลา 10 ปี และให้ กฟผ.จัดหาเอง 1.5 ล้านตัน/ปี หรือ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในช่วงปี 2563-2564 ที่จะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าบางปะกง โดยแต่ละปี กฟผ.มีความต้องการก๊าซ 5-6 ล้านตัน/ปี
นอกจากนี้ ได้เร่งให้ กฟผ.เจรจากับเมียนมาและกัมพูชาในการขายไฟฟ้า ในส่วนสำรองที่เหลือแต่ละปีกว่า ร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยล่าสุด กฟผ.แจ้งว่าได้หารือกับกัมพูชาเพื่อวางแผนขายไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ในอนาคต จากปัจจุบันไทยขายให้แล้ว 200 เมกะวัตต์ โดยจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณการขายและปรับแผนการสร้างระบบส่งเชื่อมโยงไทย – กัมพูชา เพื่อพัฒนาระบบสายส่งเป็นแรงดัน 500 เควีในอนาคต เช่นเดียวกับเมียนมาจะมีการพัฒนาสายส่งด้านจังหวัดตาก เบื้องต้นจะมีการจำหน่ายไฟฟ้า 60 เมกะวัตต์
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. กล่าวว่า สัญญาซื้อขาย หลักของ กฟผ.แต่ละปีจะมีปริมาณไม่เท่ากัน โดยในช่วงแรกจะมีความต้องการสูงและลดลงในช่วงสัญญาท้าย ๆ โดยในส่วนของ ปตท.ยังมีลูกค้าส่วนอื่น ๆ ทั้งโรงไฟฟ้าเอกชนและอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถทำตลาดจำหน่ายได้และจำหน่ายในราคาตลาด ที่แข่งขันได้
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า การดำเนินงานปี 2563 นั้น กฟผ.จะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเสริมระบบตามแผนพีดีพี 2018 โดยเตรียมเสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 8 โรง รวมกำลังผลิต 5,400 เมกะวัตต์ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สำเร็จภายในปี 2563 เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้า หากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าผ่านมติ ครม.แล้วจะเริ่มสร้างโรงแรกคือ โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนและโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ประมาณปี 2568
นอกจากนี้ กฟผ.พร้อมเดินหน้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน Energy for All ค้นหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งจะเดินหน้าด้านการเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน ซึ่งได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อศึกษาการเตรียมพร้อมตลาดการซื้อขายไฟฟ้าในประเทศและระดับภูมิภาค
ทั้งนี้ ในด้านการแสวงหาโอกาสในอนาคตนั้น กฟผ.ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ดำเนินการ Smart City และ ERC Sandbox เพื่อยกระดับการบริหารจัดการพลังงานภายในพื้นที่ และดำเนินการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง ให้เป็น EGAT Energy Excellence Center โดยตั้งเป้าหมายให้เป็น ZERO Building ลดการใช้พลังงานจากระบบไฟฟ้า โดยพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนจากแหล่งต่าง ๆ ที่จะติดตั้งภายในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ. -สำนักข่าวไทย