กรุงเทพฯ 25 ธ.ค. – ซานต้า”สนธิรัตน์” ย้ำปี 63 เดินหน้าเศรษฐกิจฐานราก โรงไฟฟ้าชุมชน-เชื้อเพลิงชีวภาพ พร้อมสร้างความมั่นคงของประเทศ เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เจรจากัมพูชา พัฒนาพื้นที่ทับซ้อน หลังหยุดยาวมานาน 12 ปี เร่งแผนไทยศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าและแอลเอ็นจีในภูมิภาค
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงผลว่า ในปี 2563 วางแผนดำเนินงานต่อเนื่องจากปีนี้ ทั้งด้านเศรษฐกิจฐานราก การช่วยค่าครองชีพประชาชน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนต่อจากปีนี้ทั้งเรื่องพลังงานทั่วถึง มั่นคง สร้างรายได้ให้ประเทศ การสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดภาระค่าครองชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ ยกบทบาทไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมพลังงานสะอาดและลดมลพิษจากการใช้พลังงาน
ทั้งนี้ ในแผน โรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ จะเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีแรก ของปี 63 รวมทั้ง ขับเคลื่อนโครงการชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อาทิ สถานีพลังงานชุมชุน และที่เร่งด่วนคือ โครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสู้ภัยแล้ง การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซให้มีความเป็นธรรม การส่งเสริมการใช้ B10 และบริหารน้ำมันปาล์มดิบในภาคพลังงานอย่างเป็นระบบ
“ที่ผ่านมา นโยบายส่งเสริมให้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐาน ช่วยสร้างสมดุลของดีมานด์และซัพพลายของปาล์มระยะยาว ช่วงนี้จะเห็นชัดว่า ปาล์มน้ำมันถูกยกระดับราคาอยู่ที่กิโลกรัมละเกือบ 6 บาท/กก. แล้วและต่อไปก็จะดูไปถึงเรื่องมันสำปะหลังและอ้อย ผ่านโครงการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานกลุ่มเบนซิน ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนก็จะช่วยสร้างรายได้ที่ดีต่อเกษตรกร ” รมว.พลังงานกล่าว
ทั้งนี้ การช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนด้านพลังงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของประชาชน จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทยสูงถึงประมาณ 2,280 บาทต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงฯได้ช่วยลดค่าครองชีพ ทั้งการตรึงราคาก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัมไว้ที่ 363 บาทต่อถัง ช่วยตรึงค่าไฟฟ้า Ft ช่วง 4 เดือนแรกของปีหน้า และการลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและกลุ่มดีเซลลิตรละ 1 บาทเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 62 – 10 ม.ค.63
ในขณะที่การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ในปี 63 จะมีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่รอบ ที่ 23 และ เจรจากับกัมพูชาในการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนระหว่างกันหลังจากการเจรจาหยุดชะงักไป 12 ปี และในไตรมาส 1/63 ตั้งเป้าหมายจะสรุปเรื่องการเจรจากับเชฟรอนฯ เรื่องค่าใช้จ่ายรื้อถอนปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ ที่ได้ระงับการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการ ไปก่อนหน้านี้
สำหรับงบประมาณ ปี2562 นั้น มีการเก็บรายได้จากกิจการปิโตรเลียมเข้าสู่ภาครัฐจำนวน 166,332 ล้านบาท ค่าภาคหลวง 45,555 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,151 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 12,688 ล้านบาท เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน จะทบทวนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB)ทั้ง 5 แผน ทั้งแผนไฟฟ้า,น้ำมัน,ก๊าซธรรมชาติ,พลังงานทดแทน และอนุกรักษ์พลังงาน เพื่อให้พร้อมเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)และค่าไฟฟ้ารถ EV และรถไฟฟ้าสาธารณะ และในด้านบทบาทนำในภูมิภาค ได้กำหนดกรอบเพื่อการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลาง ก๊าซธรรมชาติ( LNG) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเกิดการซื้อขายได้จริงภายในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า. – สำนักข่าวไทย