กทม.23ธ.ค.-เปิดเวทีตีแผ่ชีวิตเหยื่ออุบัติเหตุกลายเป็นคนพิการ ซึมเศร้า บางรายอยากจบชีวิต ด้านจิตแพทย์ ชี้ความเครียดจากการเผชิญอุบัติเหตุส่อทำผู้ป่วยเสี่ยงโรคซึมเศร้า แนะคนรอบข้างสังเกตอาการ-ควรปรึกษาจิตแพทย์
วันนี้(23ธ.ค.)ที่เดอะฮอล์กรุงเทพ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา “ปัญหาสุขภาพจิต ในวิกฤตชีวิตญาติและเหยื่ออุบัติเหตุทางถนน” โดยถ่ายทอดประสบการณ์จากเหยื่อและญาติอุบัติเหตุทางถนน จากคนปกติต้องกลายเป็นผู้พิการและคนที่ต้องสูญเสียสามี และลูก ภายในงานมีการแสดงละครสะท้อนปัญหาความสูญเสียหลังอุบัติเหตุ
นายศักดา บุญสุขศรี หนึ่งในเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กล่าวว่า เมื่อปี40 ประสบอุบัติเหตุทางถนนจากการเมาแล้วขับ หลังไปดื่มเหล้ากับเพื่อนช่วงเลิกงาน พอเหล้าหมดอาสาขี่รถจักรยานยนต์ออกไปซื้อ แม้เพื่อนห้ามก็ไม่ฟังเพราะมั่นใจว่าไม่เมา และร้านจำหน่ายอยู่ห่างจากบ้านแค่ 800 เมตร ด้วยความชะล่าใจบวกความประมาททำให้ขี่รถชนกำแพง ร่างกระแทกไปนอนสลบกับพื้น ส่งผลให้กลายเป็นคนพิการอัมพาตครึ่งท่อนต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต จากเดิมเคยเป็นเสาหลักครอบครัวกลายเป็นภาระพ่อแม่ น้อง 2 คนไม่ได้เรียนต่อ ครอบครัวกู้หนี้ยืมสินนำเงินมารักษา อาการบาดเจ็บทางกายก่อตัวเป็นความเครียดเหมือนคนเป็นโรคจิต รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวังไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยากฆ่าตัวตายหนีปัญหา ชีวิตเหมือนล้มละลาย
“ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย พ่อแม่ต้องคอยดูแล ไปทำงานพักเที่ยงก็ต้องรีบกลับมาป้อนข้าว หายาให้กิน รู้สึกเป็นภาระครอบครัว มีหนี้สินไปกับการรักษาทำกายภาพนานถึง 2 ปี ท้อแท้มาก เครียด คิดแต่อยากตายแต่โชคดีได้กำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนมูลนิธิเมาไม่ขับดึงมาเป็นอาสาสมัครช่วยรณรงค์ให้สังคมเห็นโทษจากการเมาแล้วขับได้ไปฝึกอาชีพกับโรงเรียนสอนคนพิการ ทำให้มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้ มีพลังดำเนินชีวิตต่อ ปีใหม่นี้อยากเตือนถึงคนที่ยังใช้ชีวิตประมาท อยากให้ดูผมเป็นตัวอย่าง ถ้าวันนั้นยอมฟังเพื่อนคงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ แค่เสี้ยววินาที ทำให้กลายเป็นคนพิการนั่งบนรถเข็นไปตลอดชีวิต” นายศักดา กล่าว
นางรัชฐิรัชฎ์ ซุ่นสั้น ภรรยาที่สูญเสียสามีจากคนเมาแล้วขับ ขณะปฏิบัติหน้าที่ กล่าวว่า ครอบครัวต้องสูญเสียเสาหลักอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุคนเมาขับรถกระบะชนขณะไปปฏิบัติหน้าที่เคลียร์พื้นผิวจราจร เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นอุบัติเหตุซ้ำซ้อนสะเทือนขวัญคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ถึง 5 ราย หนึ่งในนั้นเป็นสามีที่ประกอบอาชีพเป็นตำรวจ จากครอบครัวสมบูรณ์ ทำให้ลูกขาดพ่อ ต้องดูแลครอบครัวเพียงลำพัง แต่ชีวิตต้องเดินหน้า เอาคำสอนสามีเป็นกำลังใจ ผลักดันให้เข้มแข็งเป็นแบบอย่างให้ลูก โชคดีที่พี่ๆน้องๆเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตเข้ามาช่วยเหลือเรื่องคดี พูดคุยอย่างเข้าใจ จนเหมือนญาติ ทำทุกอย่างเพื่อหวังให้ก้าวผ่านจุดนี้ไปให้ได้ ถือว่าโชคดีมากว่าคนอื่นๆ
“สามีเคยสอนว่าเสียใจได้แต่ต้องมีสติ อย่าให้ความเสียใจมาทำลายทุกอย่าง จะไม่เอาตัวเองไปจมปลักอยู่กับความทุกข์ ไม่ทำกิจกรรมบั่นทอนจิตใจ ไม่ฟังเพลงเศร้าอ่านหนังสือธรรมะที่มีคำสอนดีๆ ปีใหม่นี้ในฐานะครอบครัวที่เคยสูญเสียคนรักจากการถูกคนเมาขับรถชน ถ้าดื่มอย่าขับรถเด็ดขาดต้องมีสติ และอยากฝากเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง คนทำผิดกฎจราจรเมาแล้วขับต้องโดนลงโทษสถานหนักเสียที” นางรัชฐิรัชฎ์ กล่าว
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลคนตายจากอุบัติเหตุปี 62 จากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ อุบัติเหตุบนท้องถนนครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ48 เดินทางใกล้ๆบ้านไม่เกิน 5 กิโลเมตร จักรยานยนต์ที่เสียชีวิตถึง 323ราย ร้อยละ41ไม่มี พ.ร.บ.ทำให้ไม่มีเงินมาช่วยเหลือเยียวยาทั้งตัวเองและคู่กรณี และร้อยละ41เป็นเสาหลักครอบครัว นอกจากทำให้บาดเจ็บทางร่างกาย บางรายได้รับผลกระทบทางจิตใจจากภาวะความเครียดที่รุนแรง จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียอวัยวะหรือถึงขั้นชีวิต ซึ่งความเครียดนี้ แบ่งได้หลายระดับ เช่น “โรคความเครียดจากการได้รับบาดเจ็บ” ผู้ป่วยจะมีภาวะครุ่นคิดกับสิ่งที่เจอ ส่งผลทำให้สภาพจิตใจแย่ลง เริ่มรู้สึกโทษตัวเองที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่อยากทำอะไร เศร้า หดหู่ หมดกำลังใจ ทานอาหารและการนอนเริ่มเปลี่ยนแปลง ขั้นหนักสุดคือไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นหลายสัปดาห์ติดต่อกัน และไม่สามารถพยุงความรู้สึกตัวเองได้ อันนี้จะถือว่าเป็น “โรคซึมเศร้า”
รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า โรคเครียดเกิดจากการเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญหรือเรียกว่า PTSD (Post traumatic Stress Disorder) เป็นโรคที่ ก่อตัวขึ้นจากการที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบเทือนจิตใจถึงขั้นชีวิต ซึ่งอาการของโรคจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหวาดผวา เหมือนเหตุการณ์น่ากลัวยังเกิดขึ้นซ้ำๆ แม้จะจบไปแล้ว ตื่นกลางดึกเพราะฝันร้าย รู้สึกใจสั่นและกลัวอยู่ตลอดว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับตัวเอง ดังนั้นคนรอบข้างต้องระวังเมื่อผู้ป่วยเจอเหตุสะเทือนขวัญ การที่ให้เล่ารายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังมากเกินไป อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกหวาดผวาขึ้นมาได้ ต้องประเมินความพร้อม การเล่าอยากให้ผ่อนคลายในสิ่งที่อยากเล่าจริงๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสภาพจิตใจ
“การฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ป่วยที่มีภาวะความเครียดทางอารมณ์ คนรอบข้างครอบครัวช่วยได้ ให้ใช้วิธีพูดคุย คอยรับฟังในเวลาที่ต้องการ หากมีอาการโรครุนแรงมีผลต่อการดำเนินชีวิต ไม่สามารถทำงานได้ อยากทำร้ายตัวเองบ่อยครั้ง คิดเรื่องความตาย ให้ชักชวนไปพบผู้เชี่ยวชาญที่ รพ.ด้านจิตเวช สถานพยาบาลด้านจิตเวชที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีนักจิตบำบัด จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคอยให้คำปรึกษา ดูแลด้วยการใช้จิตบำบัด บางรายอาจมีการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการร่วมตามความรุนแรงของโรค” รศ.พญ.รัศมน กล่าว.-สำนักข่าวไทย