กรุงเทพฯ 21 พ.ย. – กฟผ.แจ้งเขื่อนทุกเขื่อนในไทยไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว สปป.ลาว รวมทั้ง สถานีไฟฟ้าแรงสูงน่าน ตรวจสอบแล้วไม่มีความเสียหาย ชี้ 3 ปัจจัยผลกระทบแผ่นดินไหวระยะไกลต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (21 พ.ย.) เมื่อเวลา 04.03 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ความลึก 5 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศลาว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เหตุการณ์ส่งผลให้โรงไฟฟ้าหงสา เครื่องที่ 1 และ 2 หยุดการผลิตฉุกเฉินด้วยสัญญาณ Vibration high ขณะจ่ายโหลดรวม 985 MW และโรงไฟฟ้าหงสา เครื่องที่ 3 ลดการผลิตเหลือ 200 MW เหตุการณ์นี้ไม่มีไฟฟ้าดับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นที่ใช้ก๊าซทดแทน และทุกเขื่อนในไทยไม่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสถานีไฟฟ้าแรงสูงน่าน หลังตรวจสอบแล้วไม่มีความเสียหายต่อมาเวลา 06.51 น. โรงไฟฟ้าหงสา เครื่องที่ 3 หยุดการผลิตฉุกเฉิน หลังเกิดแผ่นดินไหวเพิ่มเติม (After shock)
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวเป็นแผ่นดินไหวระดับกลางและเป็นแผ่นดินไหวระยะไกลประมาณ 600-700 กม. ทำให้อาคารหลายแห่งใน กทม.ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ มี 3 ปัจจัยที่แผ่นดินไหวมีผลกระทบต่ออาคารสูงใน กทม.ที่ต้องระวัง คือ 1. สภาพชั้นดินของ กทม. เป็นชั้นดินเหนียวอ่อน ดังนั้นแม้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นจากระยะไกล แต่ด้วยสภาพชั้นดินของ กทม.จะขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้แรงขึ้นได้อีก 3-4 เท่า ทำให้อาคารได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวดังกล่าว 2. อาคารสูง เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ที่มีความสูง 10 ชั้นมีค่าความถี่ธรรมชาติต่ำ ซึ่งเป็นค่าความถี่การสั่นของอาคารที่ใกล้เคียงกับการสั่นไหวของพื้นดิน ทำให้เกิดการสั่นเข้าจังหวะกันระหว่างพื้นดินและอาคาร ทำให้อาคารสูงมีการสั่นสะเทือนที่แรงกว่าอาคารทั่วไป และ 3. อาคารสูงหลายแห่งใน กทม. หากก่อสร้างก่อนปี 2550 มีแนวโน้มที่จะไม่ได้ออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว เนื่องจาก กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เริ่มประกาศใช้บังคับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา
จากปัจจัยทั้ง 3 ทำให้อาคารสูงหลายแห่งมีการสั่นไหวที่รุนแรงกว่าปกติ ทั้งนี้ การสั่นไหวของอาคารใน กทม. เนื่องจากแผ่นดินไหวเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งในอดีต เช่น ปี 2547 เกิดแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียขนาด 9.3 ริกเตอร์ และปี 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ในประเทศลาว
สำหรับแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบต่ออาคารสูงใน กทม.อาจมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1. บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกในมหาสมุทรอินเดียมีระยะห่างจาก กทม.ประมาณ 1200 กม. 2. แผ่นดินไหวทางภาคเหนือและจากประเทศลาวมีระยะห่างจาก กทม. ประมาณ 600-700 กม. และ 3. แผ่นดินไหวที่มาจากทางภาคตะวันตกได้แก่ จ. กาญจนบุรี และจากประเทศพม่า มีระยะห่างจาก กทม. ประมาณ 300-400 กม.
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ กล่าวว่า ควรให้ความใส่ใจกับแผ่นดินไหวที่มาจากทิศตะวันตกและประเทศพม่าด้วย เนื่องจากมีรอยเลื่อนที่มีพลัง คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ นอกจากนี้ ยังมีรอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่า ซึ่งอยู่ห่างในระยะประมาณ 400 กม. และอาจเกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรงถึง 8.5 ริกเตอร์ หากเกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบให้อาคารใน กทม.ได้รับความเสียหายได้
สำหรับผลกระทบของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศลาวครั้งนี้นั้น คิดว่าอาจมีผลกระทบให้อาคารสั่นไหว แต่คงไม่กระทบต่อโครงสร้างมากนัก เนื่องจากเป็นเพียงแผ่นดินไหวระดับปานกลางและเกิดขึ้นค่อนข้างไกลจาก กทม. อย่างไรก็ตาม แนะนำให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอาคารของตนว่ามีรอยร้าวที่บริเวณใดบ้าง เช่น เสา คาน ผนังอาคาร เป็นเบื้องต้น และหากตรวจพบรอยร้าวก็ควรแจ้งวิศวกรเข้าตรวจสอบเหตุการณ์ด้วย.-สำนักข่าวไทย