กรุงเทพฯ 10 พ.ย. – รมว.เกษตรฯ สั่งด่วนกรมวิชาการเกษตรสรุปสตอกสารเคมี 3 ชนิด พร้อมแผนการจัดเก็บ หลังประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกใช้ 1 ธ.ค. ด้าน “มนัญญา” ยืนยันค่าทำลายวัตถุอันตรายเป็นความรับผิดชอบของผู้ครอบครอง
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด เร่งประชุมกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุด ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประธานคณะทำงานได้นัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งผลศึกษาผลกระทบทุกด้านอย่างรอบคอบทั้งที่มีต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมผลิตสินค้าเกษตรต่อเนื่อง และมาตรการสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ตลอดจนการเตรียมเก็บสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพื่อทำลายตามหลักวิชาการให้มีความปลอดภัยในการประชุมครั้งที่ 2 สัปดาห์นี้
กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (สคว.) ได้ทำหนังสือแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานแก่ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวพ.) 8 แห่งทั่วประเทศ เร่งรัดสตอกล่าสุดของสารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ภายในพื้นที่ส่งให้ สคว.ภายในวันุพรุ่งนี้ (11 พ.ย.) รวมทั้งจัดทำแผนการรับแจ้งและเก็บรวบรวม เพื่อจะนำเสนอคณะทำงานของกระทรวงในการกำหนดงบประมาณต่อไป
จากการหารือในที่ประชุมคณะทำงานครั้งแรกสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเห็นเบื้องต้นว่าจำเป็นต้องจ่ายค่าทำลายสารเคมีทั้งที่เกษตรกรซื้อไปแล้ว ตลอดจนสตอกของผู้ประกอบการและร้านค้าต่าง ๆ ในอัตราตันละ 100,000 บาท ผลสำรวจสตอกสารทั้ง 3 ชนิดเมื่อเดือนกันยายนพบว่า มีรวม 29,869.58 ตัน ดังนั้น จะใช้งบประมาณทำลายเกือบ 3,000 ล้านบาท
ส่วนนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ค่าทำลายสารเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายเป็นความรับผิดชอบของผู้ครอบครอง ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 52 วรรคท้าย ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตรเตรียมส่งสารวัตรเกษตรและสารวัตรเกษตรอาสาจัดทำมาตรการตรวจสอบสตอกอย่างเข้มงวด รวมทั้งป้องกันการลักลอบนำเข้าและจำหน่าย โดยก่อนที่การยกเลิกจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม ต้องไปให้คำแนะนำร้านจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรให้ส่งคืนบริษัท แล้วบริษัทต้องรับผิดชอบค่าทำลาย ไม่ใช่ใช้งบประมาณรัฐ ซึ่งจะมอบนโยบายสารวัตรเกษตรทั่วประเทศประมาณ 300 คน วันที่ 22 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องข้อควรปฏิบัติหลังการยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยมอบหมายให้นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เรียกสารวัตรเกษตรเข้าร่วมประชุม ตลอดจนจัดสถานที่
ก่อนหน้านี้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ออกคำสั่งกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การดำเนินการกับวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ประกอบด้วย กลุ่มไกลโฟเซตได้แก่ เซสควิโซเดียม ไกลโฟเซต โซเดียม ไกลโฟเซต ไดแอมโมเนียม ไกลโฟเซต ไตรมีเซียม ไกลโฟเซต โพแทสเซียม ไกลโฟเซต โมโนเอทิลแอมโมเนียม ไกลโฟเซต และโมโนแอมโมเนียม ไกลโฟเซต กลุ่มคลอร์ไพริฟอส ได้แก่ ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม คลอร์ไพริฟอส และคลอร์ไพริฟอส-เมทิล ส่วนกลุ่มพาราควอต ได้แก่ พาราควอตคลอไรด์และพาราควอตไดคลอไรด์ ซึ่งผู้ครอบครองต้องแจ้งปริมาณที่มีไว้ในครอบครองภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ โดยผู้ครอบครองที่อยู่ในกรุงเทพมหานครแจ้งได้ที่ สำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ส่วนภูมิภาคแจ้งได้ที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร 8 เขตในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี ชัยนาท จันทบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา จากนั้นต้องส่งมอบหน่วยงานที่กำหนดหลังแจ้งการครอบครองภายใน 15 วัน ซึ่งคำสั่งนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562.-สำนักข่าวไทย