ชุมพร 18 ต.ค. – แม้ยังไม่มีทางออกของปัญหาการโยกย้ายตำรวจสายงานอื่นมาทำหน้าที่พนักงานสอบสวน ก็มีการประชุมตำรวจในหลายพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหา และให้ความรู้พนักงานสอบสวนใหม่ ทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติหลายเรื่อง เพื่อลดความเครียด ติดตามรายงานพิเศษเรื่อง แก้วิกฤติพนักงานสอบสวน วันนี้นำเสนอเป็นตอนที่ 2
ผู้กองพรอุมา แก้วประดิษฐ์ รองสารวัตร สภ.ปากน้ำชุมพร เคยอยู่สายงานนิติกรมา 6 ปี ตัดสินใจสมัครเป็นพนักงานสอบสวน เพราะมีใจรักงานสอบสวน คิดว่าคงไม่ยากเกินความสามารถ ใช้ความรู้เรื่องกฎหมายเหมือนกัน ตอนนี้เพิ่งฝึกงานได้ 1 เดือน และกำลังลองเขียนสำนวนคดีอาญา เช่น คดีทำร้ายร่างกาย คดีปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งมีรูปแบบและมีข้อกฎหมายเหมือนสำนวนจริง
งานสอบสวนส่วนมากจะเป็นงานละเอียดอ่อน ด้านเอกสาร การทำสำนวนต้องรอบคอบ และต้องเอาใจใส่ ทุกคนที่จะมาเป็นพนักงานสอบสวนได้ต้องมีเวลาให้กับงาน คือตั้งใจมาทำงานจริงๆ
เงินประจำตำแหน่งแต่ละสายงานแตกต่างกัน อย่างตำรวจสายปราบปราม สืบสวน จราจร ตำแหน่งละ 3,000 บาท ส่วนเงินประจำตำแหน่งพนักงานสอบสวน ถือว่าได้มากที่สุด คือ รองสารวัตรได้ 12,000 บาท สารวัตร 14,000 บาท และรองผู้กำกับ 17,300 บาท แต่เงินเพิ่มที่มากมาพร้อมกับภาระที่มากเช่นกัน ตั้งแต่การสอบปากคำ การทำสำนวน ส่งฟ้องผู้ต้องหา การฝากขัง ไปจนถึงเป็นพยานในชั้นศาล
หลังตำรวจสายปราบปราม สภ.มาบอำมฤต จ.ชุมพร ซึ่งเพิ่งถูกย้ายมาเป็นพนักงานสอบสวน ฆ่าตัวตายเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ และเขียนจดหมายว่มาจากสาเหตุนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้บังคับบัญชาเห็นถึงวิกฤติของปัญหา
ที่กองบังคับการตำรวจภูธรชุมพร มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการทำงานสอบสวน ระหว่างผู้บังคับบัญชาและพนักงานสอบสวน ในสถานีตำรวจต่างๆ ในชุมพร เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ให้ความรู้เรื่องกฎหมาย และหลักการทำงานสำหรับพนักงานสอบสวนใหม่ พร้อมเน้นย้ำว่า ให้หัวหน้างานดูแลลูกน้องอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันพนักงานสอบสวนเครียดกับงานจนคิดสั้น เพราะบางครั้งงานสอบสวนต้องทำงานคนเดียวนานๆ จนรู้สึกโดดเดี่ยว
แม้ผ่านการฝึกมาแล้ว ได้ใบประกาศแล้ว ในช่วง 3 เดือนแรก ต้องให้เข้าคู่กับพนักงานสอบสวนที่มีประสบการณ์ก่อน จนรองผู้กำกับการสอบสวนพิจารณาแล้วเหมาะสมเข้าเวรคนเดียวได้ จึงจะปล่อยให้เข้าเวรคนเดียว
ข้อมูลจากตำรวจภูธรชุมพร ที่ชุมพรมีปริมาณคดีเกือบ 10,000 คดี/ปี ทำให้พนักงานสอบสวนต้องรับผิดชอบคดีเฉลี่ยปีละ 125 คดี/คน เกินกว่าที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้ว่า พนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนไม่เกิน 70 คดี/คน/ปี จึงมีการเกลี่ยรองสารวัตรปราบปรามมาทำงานสอบสวน เพื่อแก้การขาดแคลน ขณะนี้ที่ชุมพรมีพนักงานสอบสวน 80 คน มีทั้งที่ไม่สมัครใจ และสมัครใจที่จะย้ายข้ามสายงาน
ส่วนในจังหวัดอื่น เช่น กรุงเทพฯ สน.พญาไท และทุ่งสองห้อง มีข้อมูลว่า พนักงานสอบสวนต้องทำสำนวนต่อปีเกิน 100 สำนวนเช่นกัน ส่วนการแก้ไขปัญหาพนักงานสอบสวนขาดแคลนก็ยังไม่ชัดเจน แม้จะเปิดโอกาสให้คนที่มีคุณวุฒิเนติบัณฑิตเข้ามาสอบเป็นพนักงานสอบสวนได้ แม้จะมีความรู้เรื่องกฎหมาย แต่เมื่อไม่มีประสบการณ์ จึงทำงานลำบาก บางคนเลือกลาออก หรือย้ายสายงาน ขณะที่ตำรวจสายงานอื่นที่ถูกย้ายมาทำงานสอบสวนกว่า 50 คน ตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนดในโครงการปรับเปลี่ยนกำลังพล ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน เพราะไม่อยากทำงานสอบสวน. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
► แก้วิกฤติพนักงานสอบสวน ตอน 1