อนุสรณ์สถาน 14 ต.ค.- นักวิชาการ ระบุ มาตรา 1 ของ รธน.เป็นไปตามที่วีรชน 14 ตุลา ใฝ่ฝันให้ไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว แบ่งแยกมิได้ ชี้ ยังมีการใช้อำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจ แนะประชาชนถ่วงดุล
นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาในงาน 14 ตุลาประจำปี 2562 หัวข้อ “นิติรัฐและนิติธรรม กับระบอบประชาธิปไตยไทย” ว่า นับตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมา แม้จะมีการรัฐประหารอยู่บ้าง แต่สิ่งที่วีรชน 14 ตุลา ใฝ่ฝันและแสวงหา เริ่มก่อรูปมากขึ้นทุกวัน เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 ได้วางหลักการพื้นฐานสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นหลัการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ มาตรา 1 ว่าด้วยประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ เป็นผลมาจากการที่พลเมืองจำนวนหนึ่งกอบกู้เอกราชจากการยึดครองของพม่า ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของพลเมืองที่ต่อต้านอำนาจที่ครอบงำบ้านเมือง ทำให้เราเป็นราชอาณาจักรเดียวกันแบ่งแยกกันมิได้ และหลักการนี้เราก็ได้รักษาเอาไว้
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า มาตรา 2 ว่าด้วยประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ พระมหากษัตริย์กับประชาชนเป็นอันหนึ่งเดียวกัน ที่ประชาชนเชื่อว่าจะเป็นศูนย์รวมจิตใจ ตามหลักราชประชาสมาศัยที่ประชาชนและพระมหากษัตริย์มีส่วนร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงและปกครองบ้านเมือง หรือ มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ซึ่งในประเด็นของมาตรา 3 ที่เกี่ยวกับหลักนิติธรรมนั้น เป็นผลงานที่คนรุ่น 14 ตุลาได้ผลักดันขึ้นมา
ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของหลักนิติรัฐและนิติธรรม เป็นหลักการพื้นฐานที่ยืนยันว่าอำนาจการปกครองย่อมมิได้จำกัดตามกฎหมาย หลักการนี้มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งการปกครองโดยกฎหมายเป็นสิ่งสูงสุดที่ทุกคนต้องเสมอภาคกัน และหลักการใช้อำนาจของผู้ปกครองย่อมมีได้เท่าที่กฎหมายรับรองไว้ทั้งกฎหมายที่เป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นการแสดงให้เห็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีขึ้นได้ในยามวิกฤติตามจารีตประเพณี อำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ว่านี้ ก็ต้องอาศัยครรลองตามจารีตประเพณีและหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งต้องปฏิบัติตามราชธรรม 4 ประการ เพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดชั่วร้ายเกิดขึ้นในบ้านเมือง เราอาจยืนยันได้ว่าหลักนิติรัฐ นิติธรรมต้องเป็นไปในทางที่สอดคล้องกับการยอมรับของประชาชน โดยอำนาจจะมีได้ต่อเมื่อบุคคลจะใช้อำนาจในทางที่ถูกต้อง ซึ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจมากขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจออกกฎหมายจำกัด เพราะต้องเคารพหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่การใช้อำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจยังมีอยู่ และต้องให้ประชาชนเข้ามาถ่วงดุล ไม่ให้ทุนใหญ่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ.-สำนักข่าวไทย