กรุงเทพฯ 23 ก.ย.- “มนัญญา” บุกท่าเรือลุยตรวจกระบวนการนำเข้าสารเคมีพิษทางการเกษตร พบตัวเลขที่แจ้งนำเข้า กับตัวเลขที่นำเข้าจริงไม่ตรงกัน เก็บตรวจสอบ วอนทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแบนสารพิษดังกล่าว
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จู่โจมเข้าตรวจสอบกระบวนการนำเข้าสารเคมีอันตราย ทางการเกษตร ที่ด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ ย่านคลองเตย โดยเจ้าหน้าที่ของทางด่านไม่ทราบล่วงหน้า
ทันทีที่มาถึง นางสาวมนัญญา ตรงไปยังห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ ถามหาเอกสารนำเข้าสารเคมีอันตรายทางการเกษตรที่มีการนำเข้าเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อตรวจดูว่ามีการปฎิบัติตามขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ขออนุญาต สุ่มเก็บตัวอย่างสาร หรือมีการปลอมปนนำสารเคมีชนิดอื่นเข้ามาหรือไม่ พบว่าทุกอย่างถูกต้อง
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า สารเคมีอันตรายนำเข้า 5 ชนิด เป็นกลุ่มสารกำจัดโรคพืชและกำจัดแมลง พร้อมตั้งข้อสังเกตุการนำเข้าสารเคมีที่ผู้ประกอบการนำปะปนกันมามากกว่าหนึ่งชนิดในตู้คอนเทนเนอร์เดียว จึงอยากให้แยกตู้ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ
สำหรับสารเคมีเกษตรที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิดคือ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต หลังถูกสั่งห้ามนำเข้าตั้งแต่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรากฎไม่พบมีการนำเข้าผ่านด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ อีก อย่างไรก็ตาม แม้ไม่นำเข้าแล้ว แต่สารทั้ง 3 ชนิดยังคงค้างอยู่ในสต๊อก เมื่อยังไม่มีการแบน เท่ากับปล่อยให้ยืดเวลาการขายต่อไปได้อีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นคณะของ น.ส.มนัญญา เดินทางไปนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ สุ่มตรวจบริษัทเเห่งหนึ่งที่ได้รับอนุญาตนำเข้าสาร พาราควอต และไกลโฟเซต เพื่อตรวจสอบสต็อคสินค้าคงค้าง ปรากฎว่า บริษัทแห่งนี้ ไม่พบว่ามีสินค้าค้างสต๊อก แต่จากข้อมูลพบว่าปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) บริษัทนำเข้าสารพาราควอต 190 ตัน ส่วนไกลโฟเซต 370 ตัน / ส่วนบริษัทในเครือนำเข้าสารพาราควอต 54 ตัน ซึ่งสารทั้งหมดจำหน่ายต่อให้กับร้านค้า และบางส่วนอยู่ในมือเกษตรกรแล้ว
ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ได้ขอเอกสารการนำเข้าและปริมาณของสารเคมีอันตรายทั้ง 2 ชนิดเพื่อนำกลับไปตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลที่ตรงกับข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร หรือไม่ เบื้องต้นพบว่าตัวเลขที่แจ้งนำเข้า กับตัวเลขที่นำเข้าจริงไม่ตรงกัน
นางมนัญญา ยอมรับว่า แค่อำนาจของรัฐมนตรีช่วย ไม่สามารถที่จะแบน 3 สารเคมีอันตรายได้ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยกัน เนื่องจากการแบน ผู้นำเข้าและผู้เกี่ยวข้องจะเสียผลประโยชน์ ทั้งที การตรวงโรงงานวันนี้ ก็พบว่ามีสารเคมีที่สามารถทดแทน 3 สารเคมีอันตรายได้ คือสารไดคลอร์วอส และควินคอลแรก ซึ่งนำเข้าจากประเทศจีน บรรจุในถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร จำนวน 32,000 ลิตร
ด้าน น.ส.คันธารัตน์ บุคลานนท์ ผู้จัดการโรงงานที่ถูกสุ่มตรวจยืนยันว่า บริษัทนำเข้าสารเคมีถูกต้องตามหมาย ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสุ่มตรวจเป็นระยะ และไม่เคยถูกคาดโทษ หรือถูกร้องเรียนเกี่ยวกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิดที่กำลังเป็นปัญหา เกษตรกรที่สารส่วนใหญ่เป็นชาวสวนยางพารา มันสำปะหลัง และลำไย ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ .-สำนักข่าวไทย