กรุงเทพฯ 19 ก.ย. – กพร.เดินหน้าเชิงรุกพัฒนาผู้ประกอบการเหมืองแร่ไทยสู่เหมืองแร่สีเขียวเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม 10 ปีมีผู้ประกอบการเหมืองแร่สีเขียวรวม 258 ราย
นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการเหมืองแร่ให้มีมาตรฐานการประกอบการที่ดี และที่สำคัญต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนหรือการเป็นเหมืองแร่สีเขียว
นายธีระยุทธ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2553 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ใช้นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรแร่เชิงรุก เพื่อให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่พัฒนาตัวเอง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ผ่านมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว หรือ Green Mining รวม 258 ราย และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM) จำนวน 109 ราย
“การสร้างมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) และมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM) นอกจากจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสร้างการยอมรับการประกอบการของอุตสาหกรรมแร่ รวมทั้งสร้างความเข้าใจในความจำเป็นของการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์จากภาคสังคม ทั้งประชาชน หน่วยงานท้องถิ่น และภาครัฐ ช่วยให้สามารถผลิตและใช้แร่ได้อย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดความมั่นคงของวัตถุดิบอุตสาหกรรมด้านแร่ในระยะยาวได้” นายธีระยุทธ กล่าว
สำหรับปี 2562 มีผู้ผ่านเกณฑ์การประเมินและได้รับรางวัลมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว 41 ราย และได้รับรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวสำหรับสถานประกอบการรายเดิมที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 119 ราย และมีสถานประกอบการได้รับรางวัลการดำเนินงานตามมาตรฐาน CSR-DPIM 6 ราย รางวัลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ผ่านเกณฑ์ระดับดีเยี่ยม ได้ 100 คะแนนเต็ม 12 ราย รางวัลบุคลากรดีเด่นด้านความรับผิดชอบต่อสังคม CSR-DPIM 3 ราย และรางวัลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง 47 ราย.-สำนักข่าวไทย