กรุงเทพฯ 15 ม.ค.-ก.ล.ต.คาดได้ข้อสรุปมาตรการเปิดเผยข้อมูลจำนำหุ้นใน ไตรมาส 1/68 ยอมรับน่ากังวล เพราะรูปแบบทำผิดซับซ้อนมากขึ้น ยังไม่มีแนวคิดหยุดหยุดใช้มาตรการดูแล short selling ขึ้นกับสถานการณ์
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีการนำหุ้นไปจำนำและถูกบังคับขาย (Forced sell) จนมีผลกระทบต่อราคาหุ้น ทำให้นักลงทุนเกิดความเสียหายนั้น ทาง ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่มงนอนใจ มองว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องได้รับการป้องกัน และแก้ไขอย่างเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบัน ก.ล.ต. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงมาตรการที่สามารถนำมาใช้เพื่อเปิดเผยข้อมูลการจำนำหุ้น ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งข้อกฏหมาย กฏเกณฑ์ ลักษณะธุรกรรม โดยคาดว่า ความชัดเจนภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 แต่ในขั้นตอนการบังคับใช้นั้นอาจจะต้องรอกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
พร้อมยอมรับว่า การจำนำหุ้น มีความน่ากังวล เพราะความยาก คือ การจำนำหุ้นไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งในต่างประเทศบางประเทศสามารถทำได้ ส่วกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต.จะเข้าไปตรวจสอบได้นั้น ต้องเป็นที่สงสัยว่ามีการทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เท่านั้น ขณะที่บทลงโทษของการไม่รายงานเรื่องการจำนำหุ้น เบื้องต้นตามกฎหมายคาดว่าจะมีทั้งโทษปรับและโทษจำคุก และมีกฎหมายมาคุ้มครองพยานด้วย โดยสำนักงาน ก.ล.ต.กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อกฎหมาย
“ถึงแม้ว่าในปัจจุบันรูปแบบการกระทำความผิดจะมีความซับซ้อนมากขึ้น และในบริษัทใหญ่ๆหลายบริษัทเริ่มมีการใช้วิธีนี้ แต่ ก.ล.ต. ยืนยันว่าไม่มีความกดดัน ถึงแม้บางครั้งจะเป็นเคสใหญ่ เช่นกรณีล่าสุด ที่ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะทุกเคส ก.ล.ต. ดำเนินการ อย่างตรงไปตรงมาตลอด”
สำหนับมาตรการการยกระดับการกำกับดูแลที่ได้บังคับใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้ มีแนวโน้มที่ ก.ล.ต. จะทบทวน และยกเลิกอย่างการใช้เกณฑ์ Uptick Rule ส่วนมาตรการการดูแล Short Selling ยอมรับว่าเกณฑ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งทำให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดหายไป ซึ่งต้องดูรายละเอียด และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาอีกครั้ง ว่ายังเหมาะสมที่จะบังคับใช้มาตรการนี้อยู่หรือไม่ และคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 เช่นกัน
นายเอนก ยังกล่าวถึง กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นภายในงาน Dinner Talk งานหนึ่งว่า หากมีการจำนำหุ้นเกินกว่า Trigger point ควรจะต้องมีการรายงานนั้น ก.ล.ต. มองว่า ความยากคือการกำหนดเกณฑ์อย่างเหมาะสม ว่า ควรกำหนดขนาดจำนำหุ้นเท่าไหร่ รวมไปถึงความถี่ในการรายงาน ว่าควรกำหนดที่เท่าไหร่ ถึงจำเป็นต้องรายงาน ทำให้ในปัจจุบันข้อสรุปในการกำหนดเกณฑ์ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจาก จะต้องมีการศึกษาข้อมูลต่างๆอย่างรอบคอบก่อนจะออกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนต่อไป
ส่วนกรณี รัฐบาลเสนอแนวทางใช้ “คริปโตเคอร์เรนซี” แทนเงินสด นำร่องภูเก็ต นั้น ก.ล.ต. พร้อมสนับสนุน แนวทางดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการทำงาน ของ ก.ล.ต. ด้านดิจิทัลเช่นกัน.-516.-สำนักข่าวไทย