ภูมิภาค 9 ก.ย. – ชายแดนไทย-เมียนมา ฝนตกหนัก พระเจดีย์เก่าแก่ บ้านป่าโหย่วีโจ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พังถล่ม ขณะที่น้ำท่วม 11 อำเภอ จ.พิจิตร ยังไม่พ้นวิกฤติ จมบาดาลมานานกว่า 1 สัปดาห์ มวลน้ำป่าจาก จ.พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ หลากลงมาสมทบอีก กรมชลฯ เตือน 7 จังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยารับมือน้ำเพิ่มสูง 30-80 ซม. หลังเพิ่มการระบายน้ำ
หลังจากฝนตกหนักตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขาเหนือหมู่บ้านสันดอยงาม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ทำให้พระเจดีย์เก่าแก่อายุหลายสิบปี ที่สร้างภายในอาศรมพระธรรมจาริกบ้านป่าโหย่วีโจ เหนือหมู่บ้านชาวไทยชนเผ่ากะเหรี่ยง เกิดแตกร้าวเป็นรอยยาวและลึกตั้งแต่จากยอดพระเจดีย์มาถึงช่วงกลางของเจดีย์ จนช่วงเช้ายอดพระเจดีย์ก็พังถล่มลงมาอย่างรวดเร็ว ทำให้พระเจดีย์พังเสียหายเกือบทั้งหมด ไม่มีชาวบ้านและพระสงฆ์ได้รับบาดเจ็บ
หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปสำรวจความเสียหายเบื้องต้นพบว่า พระเจดีย์ที่มีการประดับลวดลายแบบโบราณสวยงามได้รับความเสียหายอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ต้องออกประกาศแจ้งเตือนห้ามชาวบ้านเข้าใกล้จุดเกิดเหตุอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเกรงว่าพระเจดีย์ในส่วนที่เหลือจะพังถล่มซ้ำลงมาอีก
พิจิตรน้ำท่วมมานาน 1 สัปดาห์
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ จ.พิจิตร ยังไม่พ้นจุดวิกฤติ หลังจากมวลน้ำป่าจาก จ.พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ไหลหลากลงมา นอกจากนี้ยังมีมวลน้ำป่าจาก จ.กำแพงเพชร ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนกว่า 10,070 หลังคาเรือน ต้องจมอยู่ใต้น้ำมานานกว่า 1 สัปดาห์ โดยมีระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 50 เซนติเมตร ไปจนถึงกว่า 1 เมตร
นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าฯ พิจิตร ยอมรับว่า จ.พิจิตร มีสภาพพื้นที่ที่ต่ำกว่าจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้ได้ประสานงานไปยังกรมชลประทานให้เพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา เพราะจะทำให้มวลน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จังหวัดสามารถระบายออกลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยมได้โดยเร็ว
เตือน 7 จังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังเพิ่มระบายน้ำ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ขณะนี้น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผ่าน จ.นครสวรรค์ มีปริมาตร 1,515 ลบ.ม.ต่อวินาที และแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อไหลมายังเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สำนักชลประทานที่ 12 ได้บริหารจัดการโดยแบ่งน้ำสู่แม่น้ำและคลองในระบบชลประทานซ้าย-ขวาอย่างเต็มศักยภาพแล้ว จึงเพิ่มอัตราการระบายเกินกว่า 900 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยพิจารณาและควบคุมไม่ให้เกิน 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที จะมีผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 30-80 เซนติเมตร ทั้งนี้ การปรับเพิ่มการระบายน้ำนั้นจะเพิ่มในเวลา 12.00 น. หรือ 18.00 น. เป็นไปตามข้อสั่งการของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ที่ให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำตอนกลางวัน เพื่อลดความกังวลของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้องแจ้งทางจังหวัดทุกครั้งเพื่อเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด. – สำนักข่าวไทย