โคราช 30 ส.ค. – “วีรศักดิ์” นำทีมพาณิชย์ ลุยแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน พร้อมชู 6 สินค้า GI กระตุ้นเศรษฐกิจโคราช
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ลงพื้นที่พิสูจน์คุณภาพกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ซึ่งเป็น 1 ใน 6 สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดนครราชสีมาที่มีศักยภาพในการส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ ในกิจกรรม “พาณิชย์สัญจร” เชื่อมโยงฐานรากสู่ตลาดโลก (Local to Global) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เผยเตรียมผลักดันให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียน GI มากที่สุดในประเทศ พร้อมหาช่องทางการตลาดมารองรับเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้ให้คนในจังหวัดอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าชาวโคราชตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของ GI ที่จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งต่อไปภาครัฐจะลงมาทำงานร่วมกับพื้นที่มากขึ้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน GI ได้ทั้งระบบ ในระยะแรกจะเป็นการตั้งคณะกรรมการ GI ประจำจังหวัด ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดูแลสินค้า GI โดยตรง ช่วยประสานงานเรื่องการจัดทำคำขอ จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า จัดหาช่องทางการตลาด และผลักดันในด้านต่างๆ อย่างครบวงจร
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้นำคณะผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะทำงานจากภาคส่วนต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ ลงมาดูกระบวนการผลิตสินค้าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ได้เห็นถึง
ความพิถีพิถันในการผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนจึงเป็นอีกหนึ่งสินค้า GI ที่มีศักยภาพที่เราต้องการผลักดันสู่ตลาดโลก และเชื่อมโยงแหล่งผลิตควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวภายในจังหวัด เพื่อต่อยอดการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในทุกมิติ พร้อมกันนี้
ยังได้มอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมาอย่างเป็นทางการอีก 4 รายการ ซึ่งมีการประกาศขึ้นทะเบียนในระหว่างปี 2561 – 2562 ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ไวน์เขาใหญ่ ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ และกาแฟวังน้ำเขียว จึงทำให้ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้วทั้งสิ้น 6 รายการ (อีก 2 รายการ ได้แก่ กาแฟดงมะไฟ และเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน) โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายแก่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เตรียมผลักดันสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นอื่นๆ ให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เช่น ผ้าไหมปักธงชัย มะขามเทศเพชรโนนไทย ผ้าไหมคึมมะอุ ฯลฯ เพื่อให้จังหวัดนครราชสีมามีสินค้า GI มากที่สุดในประเทศอีกด้วย . – สำนักข่าวไทย