นนทบุรี 26 ส.ค. – พาณิชย์จับมือคณะบัญชี จุฬาฯ จัดทำโครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการฯ ให้เป็นมาตรฐาน คาดจะนำมาใช้ตรวจสอบปี 64
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการวิเคราะห์ข้อมูลโครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดทำมาก่อน จึงต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่ความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลเอกชนคิดราคาที่เป็นธรรมกับผู้ป่วย และทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีกำไรในการดำเนินธุรกิจได้ ขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในอัตราที่เหมาะสม โดยเกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ในความร่วมมือดังกล่าวเพื่อศึกษาวิเคราะห์กำไรส่วนเกินระหว่างราคาขายและต้นทุนที่เหมาะสมของยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้านการกำหนดราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอชื่นชมคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำประโยชน์ต่อสังคม โดยอาศัยความรู้ความสามารถของอาจารย์ในคณะโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่ายถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ดีต่อหน่วยงานอื่นที่จะทำประโยชน์ให้เกิดคุณูปการต่อประเทศไทยในอนาคต
“หลังจากมีการลงนามดังกล่าวแล้ว ทางจุฬาฯ ขอเวลารวบรวมข้อมูลและทำการวิเคราะห์ต่าง ๆ ให้เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งคาดว่ากรมการค้าภายในจะมีการประกาศโครงสร้างต้นทุนยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการฯ อีกครั้งหนึ่งภายในปี 2564 ซึ่งจะเป็นอัตราที่เป็นธรรมและเหมาะสมกันต่อไป โดยยอมรับว่าหลังจากโรงพยาบาลเอกชนส่งข้อมูลต้นทุนยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการฯ มาให้กรมการค้าภายในมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ดังนั้น การที่จุฬาฯ เข้ามาช่วยครั้งนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจัดทำข้อมูลแต่อย่างใด จะเป็นประโยนช์ต่อผู้ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้เป็นอย่างมาก” นายวิชัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย