กทม. 23 ส.ค. – กฎหมายจราจรใหม่ ที่จะเริ่มบังคับใช้ในเดือนหน้า มีหลายเรื่องที่ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องทำความเข้าใจ เช่น ตำรวจยึดใบขับขี่ผู้ทำผิดกฎจราจรไม่ได้อีกต่อไป ขณะที่ภายในปีนี้จะนำวิธีการตัดแต้มแบบใหม่มาบังคับใช้ หวังให้คนเคารพกฎจราจรมากขึ้น
ถกเถียงกันมานานว่าตำรวจมีสิทธิ์ยึดใบขับขี่คนทำผิดกฎจราจรหรือไม่ จนกลายเป็นเหตุกระทบกระทั่งระหว่างตำรวจกับผู้ใช้รถให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่นับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนนี้ พระราชบัญญัติจราจรทางบกฉบับแก้ไขใหม่ ไม่ให้อำนาจตำรวจยึดใบขับขี่ไว้ได้อีก หลังเรียกตรวจหรือออกใบสั่ง ต้องคืนใบขับขี่ให้คนขับรถทุกครั้ง นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องพกพาใบขับขี่ตัวจริง แต่สามารถแสดงด้วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบขับขี่ดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชันของกรมการขนส่งทางบก DLT QR LICENCE ส่วนภาพถ่ายใบขับขี่ในมือถือที่ถ่ายขึ้นเอง ยังไม่สามารถใช้แทนได้
เมื่อยึดใบขับขี่ไม่ได้ วิธีที่จะควบคุมให้คนเคารพกฎจราจร คือ การคุมประพฤติด้วยการตัดแต้ม วิธีนี้ทั่วโลกใช้ได้ผลมาแล้ว ผู้ขับขี่ทุกคนจะได้รับแต้มคนละ 12 แต้ม หากทำผิดจะถูกหักครั้งละ 1-4 แต้ม แล้วแต่ฐานความผิด ความผิดต่อตัวเอง เช่น ไม่สวมหมวก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่ชำระค่าปรับตามเวลาที่กำหนด จะถูกตัด 1 แต้ม ฝ่าไฟแดง ขับย้อนศร เมาแล้วขับ จะถูกตัด 2 แต้ม
หากเมาแล้วขับปริมาณแอลกอฮอล์สูง หรือทำให้คนบาดเจ็บจะถูกตัด 3-4 แต้ม หากถูกตัดแต้มจนหมด จะถูกพักใช้ใบอนุญาต และสูงสุดคือการเพิกถอนใบขับขี่ ซึ่งขณะนี้กำลังยกร่างรายละเอียดและเตรียมประชาพิจารณ์ในเดือนตุลาคม คาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายในปลายปีนี้
ส่วนปัญหาการไม่ยอมชำระค่าปรับตามใบสั่ง ซึ่งสูงถึงกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนใบสั่งกว่า 13 ล้านใบ ในแต่ละปี มาตรการอายัดทะเบียนรถ โดยการเชื่อมฐานข้อมูลใบสั่งกับกรมการขนส่งทางบกผ่านระบบพีทีเอ็ม ล่าสุดแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 99 ผู้ที่ไม่ชำระค่าปรับตามเวลาที่กำหนด เมื่อไปต่อภาษีประจำปี จะยังไม่ได้รับป้ายภาษี แต่จะได้ใบแทนชั่วคราว และมีเวลา 30 วัน ในการไปเสียค่าปรับ ซึ่งจะเริ่มดีเดย์บังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้. – สำนักข่าวไทย