กรมควบคุมโรค10 สค..-กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยาในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค.–4 ส.ค. มีแนวโน้มพบมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดซึ่งไม่เคยพบการระบาดมาก่อน และเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคเปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยาในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ม.ค.–4 ส.ค. 62 ว่า พบผู้ป่วย 5,996 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 25-34 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 35-44 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ตามลำดับ ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือภาคใต้ รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานเหตุการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายทั้งสิ้น 5 เหตุการณ์ ในจังหวัดเพชรบุรี อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร และแม่ฮ่องสอน โดยมีแนวโน้มพบมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดซึ่งไม่เคยพบการระบาดมาก่อน และเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61 ที่ผ่านมา
“ คาดว่าในช่วงนี้จะพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลายที่นอกจากจะเป็นพาหะโรคไข้ปวดข้อยุงลายแล้ว ยังเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และโรคไวรัสซิกาอีกด้วย โรคนี้มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก หากประชาชนมีอาการไข้ ผื่น ปวดข้อ ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ทุกพื้นที่ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเน้นใช้มาตรการ“3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1. เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 3. เก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ให้ปล่อยน้ำทิ้ง หรือเปลี่ยนน้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ ควรป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้งแม้เป็นช่วงเวลากลางวัน ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีอาการสงสัยดังกล่าวข้างต้นขอให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”.-สำนักข่าวไทย